อย่างไรก็ตาม ความบาดหมางแม้จะรุนแรงเพียงใด ก็มิอาจตัดขาดสายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ได้ เสมือนมีสายใยเล็กๆยึดโยงเอาไว้ มิให้สายสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศนี้ขาดจากกัน สิ่งที่เป็นสายใยนี้ ก็คือพระเมตตาแห่ง "สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี" ที่ทรงพระราชทาน "วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล" ให้กับประชาชนชาวกัมพูชา สืบเนื่องจากที่พระองค์ท่านเสด็จ ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถานหลายครั้ง ปรากฏว่ามีประชาชนชาวกัมพูชา จำนวนมากมายมารับเสด็จทุกครั้ง พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริที่จะพระราชทาน "ของขวัญอันยั่งยืน" เพื่อตอบแทนการต้อนรับอย่างอบอุ่น ด้วยน้ำใจไมตรีให้กับประชาชนชาวกัมพูชา นั่นก็คือการให้การศึกษา
การก่อสร้างสถานศึกษาแห่งนี้ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้าง ณ สถานที่ที่ใกล้กับโบราณสถานเพื่อให้เยาวชนรักและหวงแหนสิ่งที่มีอยู่ และจากการสำรวจพบว่าประชาชนชาวกัมพูชามีผู้ไม่รู้หนังสือจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้เยาวชนจำนวนมากไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้สถานศึกษาแห่งนี้จึงเป็นเสมือนแสงสว่างแห่งความหวังของชีวิตใหม่
"วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล" มีการจัดการศึกษา สายสามัญในระดับมัธยมศึกษา และสายอาชีพ ในระดับปวช. โดยสายสามัญจะรับนักเรียนตั้งแต่เกรด 7-12 (ม.1-ม.6) และสายอาชีพจะรับจากนักเรียนเกรด 9 (ม.3) เข้าเรียนต่ออีก 3 ปี ใน 4 วิชาชีพคือ วิชาชีพช่างไฟฟ้า วิชาชีพช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิชาชีพกสิกรรม และวิชาชีพปศุสัตว์ โดยในระยะแรกคณะครุศาสตร์จุฬารับผิดชอบสายสามัญ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษารับผิดชอบสายอาชีพ โดยความควบคุมของกรมราชองครักษ์
สิ่งสำคัญยิ่งนอกจากอาคารและการจัดหาอุปกรณ์/สื่อการเรียนการสอนนั้นก็คือ การพัฒนาบุคลากร ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ที่จะทำให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ โดยได้มีการวางแผนพัฒนาบุคลากรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นนั้นได้นำครูวิชาชีพไปฝึกทักษะวิชาชีพเป็นระยะๆ ระยะเวลาละประมาณ 1 เดือน ณ วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ สำหรับการพัฒนาบุคลากรในระยะยาวนั้น ครูจะได้รับทุนพระราชทานให้ศึกษาต่อในระดับป.ตรี และ ป.โท ส่วนนักเรียนสายสามัญจะได้รับทุนพระราชทานเข้าศึกษาในระดับ ป.ตรี ส่วนนักเรียนในสายอาชีพจะได้รับทุนพระราชทานในระดับ ปวส. ตามสาขาวิชาชีพที่สำเร็จ ซึ่งทุนในระดับป.ตรี และป.โททั้งครูและนักเรียนจะเข้าศึกษาในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐในประเทศไทย แต่สำหรับสายอาชีพจะเข้าศึกษาในสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษ
ความยึดมั่นในจารีต และความมีวินัย ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มคุณค่าของความเป็นคน ซึ่งจะพบเห็นได้จากสถานศึกษาแห่งนี้ เช่นการลงจูงจักรยานเมื่อเข้าเขตโรงเรียน โดยไม่ต้องมีครูยืนดูอยู่หน้าประตู หรือการเรียนในห้องเรียนขณะที่ครูกำลังสอน นักเรียนทุกคนจะนิ่งเงียบและตั้งอกตั้งใจฟังคำสอนของครูตลอดชั่วโมงการเรียน นอกจากนั้นการรับหรือส่งสิ่งของใดๆให้กับทุกคน นักเรียนจะส่งสิ่งของด้วย 2 มือเสมอ พบผู้ใหญ่จะไหว้ทักทาย และกรณีที่มีนักเรียนหญิงและนักเรียนชายคุยกัน เมื่อเห็นว่ามีผู้ใหญ่ผ่านมาพบเห็น ทั้งคู่จะเดินแยกจากกันทันที
หากไม่มี "โรงเรียนพระราชทานกำปงเฌอเตียล" ณ วันนี้ สายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอาจขาดลง และเยาวชนจำนวนมากก็คงไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา คงมีแต่ความสิ้นหวัง มีแต่ความลำบาก ยากจน พระเมตตาแห่ง "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี" แผ่ไปทั่วมิได้เฉพาะพสกนิกรชาวไทยเท่านั้น แต่พระเมตตานี้จะแผ่ไปถึงมวลมนุษยชาติ โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ดั่งที่ทรงรับสั่งไว้ว่า "ความต้องการของข้าพเจ้าคือต้องการมีส่วนร่วมในการให้การศึกษาเยาวชนกัมพูชา ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีศักยภาพเป็นอย่างดี และถ้าได้ศึกษาเล่าเรียนและฝึกอบรมที่ดีแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคมกัมพูชา และสังคมโลกสืบไป"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น