พานิชพล มงคลเจริญ

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สถาบันมาตรฐานช่างเทคนิคแห่งชาติ

วิชาชีพที่ถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงมีอยู่มากมาย วิชาชีพทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงแขนงหนึ่ง ซึ่งบุคคลทั่วไปได้ให้ความสำคัญวิชาชีพนี้ในอันดับต้นๆ   สำหรับวิชาชีพในสายวิศวกรรมระดับที่ลดหลั่นลงมา  เช่นช่างเทคนิค และช่างฝีมือ  ไม่มีองค์กรใดๆให้ความสำคัญเท่าที่ควร  แต่ประเทศที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิศวกรรม จะให้ความสำคัญกันอย่างเท่าเทียมในทุกระดับ

แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า วิศวกรคงไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้แต่เพียงลำพัง  จำจะต้องอาศัยผู้ที่มีความชำนาญ/เชี่ยวชาญในการใช้ทักษะฝีมือ และความสามารถในการใช้เทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อสรรสร้างให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงและได้มาตรฐานตามที่กำหนด

ในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมนั้น วิศวกรมีการแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ Pure engineer และ Practical engineer ซึ่ง Pure engineer ก็คือวิศวกรที่เป็นนักทฤษฎีที่มีอยู่มากมายในบ้านเรา วิศวกรประเภทนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการใช้ทฤษฎี และหลักการต่างๆ เพื่อคิดค้น ออกแบบ ตรวจสอบ ในเชิงวิศวกรรม ส่วน Practical engineer ก็คือวิศวกรทางด้านปฏิบัติที่มีความรู้ความเข้าใจสามารถอธิบายแนวคิดของ Pure engineer สู่ผู้ปฏิบัติในระดับล่างได้ นอกจากนั้นยังสามารถท้วงติง และให้ข้อเสนอแนะรวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำแนวความคิด ของ Pure engineer ลงสู่การปฏิบัติ เนื่องจากบ่อยครั้งที่ Pure engineer ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติสามารถนำแนวคิดของตนไปปฏิบัติได้ แต่หาก Pure engineer มีประสบการณ์และได้คลุกคลีอยู่กับงานปฏิบัติมากๆ ก็จะสามารถสื่อสารงานได้เช่นเดียวกับ Practical engineer เช่นกัน

ในบ้านเราผู้ปฏิบัติที่เป็นตัวจักรสำคัญ  ที่สามารถรับแนวคิดจากวิศวกรไปปฏิบัติ ก็คือ ช่างเทคนิค โดยช่างเทคนิคนี้จะทำหน้าที่แปลความหมาย และสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติระดับช่างฝีมือสามารถนำแนวคิดจากวิศวกรไปปฏิบัติงานได้  ช่างเทคนิคนี้ หากเทียบวุฒิการศึกษา ก็คือผู้ที่สำเร็จในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ซึ่งเทียบเท่าการศึกษาในระดับอนุปริญญา ว่ากันตามจริงแล้วบุคลากรในระดับนี้ สถานประกอบการมีความต้องการสูงมาก และถือว่าเป็นกำลังคนกลุ่มสำคัญและมีศักญภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก

แต่น่าเสียดายที่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับนี้  ต่างมุ่งสู่ปริญญาตามกระแสสังคม และส่วนมากมักศึกษาต่อปริญญาตรีทางสังคมศาสตร์  เนื่องจากสำเร็จการศึกษาได้ง่ายกว่าการเรียนสายวิศวกรรม   และเมื่อสำเร็จระดับปริญญาแล้วก็มักไม่กลับมาทำงานในสายช่างเทคนิค  เนื่องจากอาจเห็นว่าเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย ยากลำบาก เป็นงานที่ต้องแก้ปัญหา และอาจมีสาเหตุจากต้องใช้เวลาเรียนในระดับปริญญาถึง 2 ปี ซึ่งเป็นเวลานานเพียงพอที่จะลืมวิชาชีพที่ศึกษามา ทำให้ไม่มั่นใจที่จะนำวิชาชีพช่างเทคนิคที่เคยร่ำเรียนมาไปใช้ในการทำงาน

ปัญหานิ้เป็นสิ่งที่สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษาแล้ว  ประเทศเรายังขาดกำลังคนในระดับนี้  ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่เคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐจนมีความรู้ในระดับช่างเทคนิค แต่ต้องละทิ้งไปเนื่องจากกระแสสังคมคลั่งปริญญา  ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องควรยกระดับผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับนี้ รวมทั้งช่างในระดับปฏิบัติที่มีความรู้ความชำนาญ  ให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสได้รับการพัฒนาสู่ความภาคภูมิใจในสถานะปัจจุบัน ด้วยการจัดตั้งองค์กรที่จะส่งเสริมวิชาชีพช่างเทคนิค เช่นเดียวกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย  เพื่อให้เป็นองค์กรสำหรับการพัฒนา และสร้างมาตรฐานวิชาชีพในระดับช่างเทคนิคสาขาต่างๆ  ซึ่งจะเป็นการยกระดับรายได้จากการจ้างงาน  และเพื่อการสนับสนุนสู่การเป็นวิศวกรทางด้านปฏิบัติการ  อันจะส่งผลดีต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศเราในระดับอาเซียนและระดับสากลต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น