พานิชพล มงคลเจริญ

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ครูช่างที่แท้จริง

ในสมัยที่โรงเรียนอาชีวศึกษายังเปิดสอนหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูง ซึ่งเทียบได้กับหลักสูตร ปวช. ในสมัยนี้  โดยหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูงในสมัยนั้น  ได้กำหนดให้นักเรียนช่างชั้นปีที่๑  ต้องเรียนรู้วิชาช่างทั้งหมด ๘ ช่าง คือช่างตีเหล็ก ช่างตะไบ ช่างโลหะแผ่นและบัดกรี  ช่างเชื่อมโลหะ  ช่างกลึง ช่างเครื่องยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างวิทยุ-โทรคมนาคม สำหรับนักเรียนช่างในชั้นปีที่๒ จะเหลือวิชาที่จะต้องเรียนรู้เพียง 3 ช่าง คือช่างเครื่องยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างวิทยุ-โทรคมนาคม และในชั้นปีที่ 3  ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูง จะต้องเลือกเรียนเฉพาะช่างที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพเพียงช่างเดียวเท่านั้น

ช่างเชื่อมโลหะ

การเรียนวิชาช่างทั้ง ๘ ช่าง จะทำให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานในการก้าวสู่ช่างมืออาชีพที่เน้นการใช้ทักษะในการทำงาน  ซึ่งในบรรดา ๘ ช่างนี้  ช่างตีเหล็กถือได้ว่าเป็นช่างโบราณที่มีประสิทธิภาพในการฝึกฝนพื้นฐานของผู้ที่จะมาเป็นช่างได้มากที่สุด เพราะหากผู้ใดได้ผ่านการฝึกฝนการตีเหล็กก็เท่ากับผู้นั้นได้ฝึกทั้งร่างกาย จิตใจ และทักษะ ไปพร้อมๆกัน  แต่น่าเสียดายที่วิชาช่างตีเหล็กได้ถูกยกเลิกการสอน ในสถาบันอาชีวศึกษาไปเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

ช่างตีเหล็ก

ในสมัยที่ผมเป็นนักเรียนช่าง และได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาช่างตีเหล็ก  ครูช่างตีเหล็กที่เคยสอนผมในสมัยนั้น ชื่อ "ครูแสวง" ซึ่งท่านมีรูปร่างสูงเพียว ผิวดำ ท่าทางเข้มแข็งทะมัดทะเมง เสียงดัง ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการตีเหล็กจากกรมอู่ทหารเรือ  ในขณะที่นักเรียนปฏิบัติการตีเหล็ก ทุกคนจะได้ยินเสียงของ "ครูแสวง" สอนสั่งวิธีการตีเหล็กที่ถูกต้อง  และว่ากล่าวผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกวิธีอยู่ตลอดเวลาด้วยน้ำเสียงอันดังของท่าน ก่อนการเรียนรู้และการฝีกฝนการตีเหล็ก  "ครูแสวง" จะให้นักเรียนทุกคนไหว้ครูตีเหล็กด้วยพิธีการยกมือไหว้ทั่งพะเนิน  ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่นเหล็กขนาดใหญ่ แล้วใช้ฆ้อนขนาด ๘ ปอนด์  ซึ่งมีหัวใหญ่ด้ามยาว ตีลงไปบนทั่งพะเนินจนครบ  ๙ ครั้ง  เมื่อครบทุกคนจึงจะเริ่มทำการสอนวิชาช่างตีเหล็ก

ฆ้อน ๘ ปอนด์
ทั่งตีเหล็ก

การเรียนช่างตีเหล็กนั้น   นักเรียนทุกคนจะต้องเรียนรู้วิธีติดเตาเผาเหล็ก วิธีใช้คีมคีบชิ้นงาน  วิธีดูสีของเหล็กที่ถูกเผาให้ร้อนแดง  วิธีตีเหล็กด้วยฆ้อนชนิดต่างๆ   วิธีตีเหล็กเพื่อขึ้นรูป  วิธีชุบแข็ง  และวิธีแต่งชิ้นงานด้วยตะไบ  ซึ่งขั้นตอนการฝึกฝนเหล่านี้ เท่ากับการหล่อหลอมให้นักเรียนช่างทุกคน  มีความอดทน  เข้มแข็ง รู้จักใช้จังหวะเวลา เพราะในขณะปฏิบัติงาน นักเรียนทุกคนจะต้องทนต่อความร้อนของอากาศและเปลวไฟ  กลิ่นการเผาไหม้ ควัน และเสียงที่ดังรบกวนอยู่ตลอดเวลา  และเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนในแต่ละวันนักเรียนทุกคนต่างหมดแรงปวดเมื่อยไปทั้งตัว  ไม่มีแรงจะไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับใครได้อีก

ลักษณะการตีเหล็กหลังจากการเผาเหล็กจนร้อนแดง

"ครูแสวง" ที่ผมรู้จักนั้นมีท่าทางเป็นที่น่าเกรงขามของนักเรียนช่างทุกคน แต่ก็เฉพาะในห้องเรียนหรือห้องปฏิบัติงานเท่านั้น แต่หากอยู่นอกห้องเรียนและมิใช่เวลาสอนท่านจะเปลี่ยนเป็นคนละคน กลายเป็นคนสุภาพอ่อนน้อม "ครูแสวง" จะรับไหว้นักเรียนทุกคนที่ไหว้ท่านด้วยหน้าตายิ้มแย้ม และทักทายด้วยไมตรี นักเรียนช่างในสมัยก่อน มักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันจนเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่มีการลอบทำร้ายหรือใช้เครื่องทุ่นแรง หรือมีการรุมทำร้ายกันเหมือนในปัจจุบัน หากไม่พอใจใครก็ท้าชกต่อยกันหลังโรงเรียนบ้าง ในห้องเรียนบ้าง เมื่อรู้แพ้รู้ชนะก็เลิกรากันไป ไม่มีการอาฆาตแค้นเคืองกัน บางคนกลับมาเป็นเพื่อนสนิทกันก็มี  มีเหตุการณ์อยู่ครั้งหนึ่ง  ที่ลูกศิษย์ของ "ครูแสวง" คนหนึ่งไม่พอใจ  ที่ถูกดุด่าว่ากล่าวในขณะทำการสอน  จึงท้าชกต่อยกับท่าน   ท่านก็ไม่ถือสาและรับคำท้านั้นโดยสั่งให้นักเรียนคนหนึ่ง ปิดห้องและให้เ้ฝ้าอยู่หน้าห้องเรียน และสั่งให้ทุกคนปิดเป็นความลับ หลังจากการชกต่อยในครั้งนั้น"ครูแสวง" หน้าตาปูดบวมโรงเรียนทราบข่าวจะไล่นักเรียนผู้นั้นออก  แต่"ครูแสวง" ได้ห้ามไว้ และบอกว่าหากไล่นักเรียนผู้นั้นออก "ครูแสวง" ก็จะลาออกทันที เนื่องจากท่านก็เป็นต้นเหตุในการทะเลาะวิวาทในครั้งนี้ด้วย นักเรียนผู้นั้นจึงไม่ถูกไล่ออก และเข้ามากราบเท้า "ครูแสวง" เพื่อขอขมากรรม นี่คือลักษณะของครูช่างที่แท้จริงของโรงเรียนช่างในยุคก่อน ทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังระลึกถึงพระคุณของท่าน  ที่ได้สอนสั่งให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้วิชาช่างตีเหล็ก และรู้ซึ้งถึงการเป็นครูช่างที่แท้จริง 








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น