พานิชพล มงคลเจริญ

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การไหว้ที่ไม่ได้มาจากใจ

สมัยผมยังเป็นเด็กถึงแม้จะอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ผู้ใหญ่ในสมัยนั้นก็ยังสอนให้เด็กๆ ยกมือไหว้ผู้ใหญ่แม้จะไม่รู้จักกันก็ตาม และเมื่อเด็กยกมือไหว้ ผู้ใหญ่ก็จะรับไหว้และมักกล่าวคำว่า "ไหว้พระเถอะลูก" หรือ "เจริญๆนะลูกนะ" เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากธรรมเนียมไทยเรานับถือผู้ที่มีอาวุโสกว่า นอกจากนั้นการสอนให้เด็กไหว้ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พร และมีความเมตตาต่อเด็กคนนั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดศิริมงคลกับตัวเด็กเอง หรือ แม้แต่พระภิกษุสงฆ์ก็มีการไหว้ผู้ที่มีพรรษาในการบวชมากกว่า ส่วนการไหว้หรือการให้ความเคารพในทางธรรม เราจะให้ความเคารพผู้ที่มีศีลมากกว่า


ปัจจุบันจุดประสงค์ของการไหว้แปรเปลี่ยนไปมาก เนื่องจากการไหว้ในปัจจุบันเป็นการไหว้ที่มุ่งผลประโยชน์ แม้แต่นักเรียนที่พบครูที่อยู่ในโรงเรียนเดียวกัน แต่ไม่ได้สอนก็เดินผ่านไปเฉยๆ ไม่ให้ความเคารพใดๆ ร้ายยิ่งกว่านั้นเด็กนักเรียนบางคนเคยเรียนกับครูคนนี้แต่ปัจจุบันไม่ได้เรียนแล้ว เมื่อพบก็ทำเฉยๆไม่ให้ความเคารพ เพราะไม่สามารถให้เกรดหรือคะแนนได้อีก ไม่คิดถึงบุญคุณที่ครูคนนั้นเคยให้ความรู้ ส่วนในสังคมของคนทำงานก็เช่นกัน การไหว้หรือทำความเคารพผู้ใหญ่คนใดก็ตาม ก็ต้องเลือกว่าผู้ใหญ่คนนั้นสามารถให้คุณให้โทษได้หรือไม่ หรือนักการเมืองที่เดินหาเสียงก็ไหว้ได้หมด ลูกเล็กแดง เสาไฟฟ้า เพียงขอให้ตนเองได้รับเลือกเป็นผู้แทนได้เท่านั้น แต่เมื่อเป็น สส. หรือรัฐมนตรี ความอ่อนน้อมถ่อมตนก็เลือนหายไปสิ้น


จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าการไหว้หรือการทำความเคารพกันในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นการเคารพกันอย่างจริงใจ แต่เป็นการเคารพโดยแฝงผลประโยชน์ส่วนตน แต่ถ้ามองเหรียญอีกด้านหนึ่งผู้ใหญ่ในปัจจุบันจำนวนมากที่ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ ทำให้ผู้น้อยไม่ให้ความเคารพนับถือ

 
ถึงแม้การทำความเคารพผู้ที่อายุมากกว่า หรือ ผู้ที่มีคุณวุฒิสูงกว่า ผู้น้อยอาจไม่แน่ใจว่าผู้ใหญ่คนนั้นจะเป็นผู้ที่สมควรไหว้หรือไม่ แต่หากเรามาพิจารณาแล้วการไหว้ผู้ที่อาวุโสกว่าด้วยความบริสุทธิ์ใจ ย่อมมีแต่ผลดี โดยไม่ต้องสนใจว่าจะสมควรไหว้หรือไม่ เหมือนกับการใส่บาตรพระเราก็อย่าไปสงสัยว่าพระที่เราจะใส่บาตรนี้เป็นพระจริงหรือพระปลอม  อยู่ที่จิตเราตั้งมั่นที่จะทำบุญด้วยใจที่บริสุทธิ์  หากเป็นพระจริงเราก็จะได้บุญอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากเป็นพระปลอมเราก็ยังได้บุญอยู่เนื่องจากจิตที่บริสุทธิ์ ส่วนบาปมหันต์ก็จะตกแก่ผู้ปลอมเป็นพระเอง     


ในแนวเดียวกันการไหว้ผู้อาวุโสกว่า ก็ขอให้เราไหว้ด้วามบริสุทธิ์ใจ อย่าไปคิดว่าเขาดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะหากผู้ที่เราไหว้หรือทำความเคารพเป็นผู้ไม่ประพฤติดี หรือมีศีลธรรมน้อยกว่าเรา ความเสื่อมก็จะอยู่ที่ตัวเขาเอง ตามคำโบราณที่กล่าวว่า "ห้ามมิให้ผู้ใหญ่ไหว้เด็กก่อน เพราะจะทำให้เด็กคนนั้นอายุสั้น หรือผู้ที่มีศีลมากไหว้ผู้มีศีลน้อยย่อมทำให้ผู้ที่มีศีลน้อยกว่ามีแต่ความเสื่อม การที่ทักทายด้วยการไหว้กันถือว่าเป็นการสืบทอดธรรมเนียมไทยที่น่ายกย่อง แม้แต่ชนต่างชาติยังชื่นชม แต่การไหว้ที่สนิทใจและไม่ต้องสงสัยในความดีก็คือการไหว้บิดามารดา ครูบาอาจารย์ และผู้มีพระคุณ ที่ผู้ไหว้ด้วยความเคารพย่อมมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น