พานิชพล มงคลเจริญ

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ดร.อัมเบดการ์ ผู้ที่ชาวพุทธควรยกย่อง

กล่าวนำ
ด.ร.อัมเบดการ์ถือว่าเป็นผู้ที่ชาวพุทธควรจดจำ  และยกย่องท่านในฐานะ ที่ท่านได้นำพุทธศาสนากลับเข้ามายังประเทศอินเดียอีกครั้งหนึ่ง  ท่านมีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อสู้ให้ประเทศอินเดียหลุดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ เช่นเดียวกันกับ       มหาตะมะคานธี แต่ถึงแม้ว่าท่านทั้งสองจะมีจุดมุ่งหมายในการทำงานเหมือนกันแต่มีแนวความคิดต่างกัน  มหาตะมะคานธียึดถือการแบ่งชนชั้นวรรณะในอินเดีย และถือว่าชั้นวรรณะเป็นเอกลักษณ์ของชาวอินเดีย ซึ่งวรรณะของอินเดีย แบ่งออกเป็น 4 วรรณะ  คือ 


  • วรรณะกษัตริย์ หมายถึง กษัตริย์ ทำหน้าที่ปกครอง และปกป้องชาติบ้านเมือง 
  • วรรณะพราหมณ์ หมายถึง ผู้ติดต่อกับเทพเจ้า เป็นผู้ช่วยกษัตริย์ปกครอง ประกอบพิธีกรรม สั่งสอนด้านศาสนา ตลอดจนการจดจำและสืบทอดค้มภีร์พระเวท
  • วรรณะแพศย์ หมายถึง ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย หรือเกษตรกรรม 
  • วรรณศูทร หมายถึงกรรมกร ผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งผู้ใช้ทักษะฝีมือ
สำหรับ "จัณฑาลหรืออธิศูทร" ซึ่งหมายถึงบุคคลที่เป็นกาลกิณี  และถือว่าเป็นผู้ไม่มีวรรณะ  ซึ่งหมายถึงบิดาและมารดามีการแต่งงานข้ามวรรณะ  


วรรณะของอินเดีย ๔ วรรณะ

ดร.อัมเบดการ์  ยึดถือความเสมอภาคของมนุษย์เป็นสำคัญ ดังนั้นท่านจึงหาหนทางนำพระพุทธศาสนา กลับเข้าสู่ประเทศอินเดียอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากท่านเห็นว่าพุทธศาสนาเท่านั้น ที่จะทำให้ความเป็นมนุษย์มีความเสมอภาคกันได้ ดังนั้นขอให้เรามาร่วมศึกษาประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจของท่านผู้นี้ โดยข้อมูลเป็นของวัดบรมสถล

ประวัติชีวิตของ ด.ร. อัมเบดการ์


ด.ร.อัมเบดก้าร์

"ด.ร. อัมเบดการ์" ชื่อเต็มของท่าน คือ บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดในวรรณะศูทร ที่ยากจนที่สุดตระกูลหนึ่งของอินเดีย ในเมืองนาคปูร์ รัฐมหาราษฏร์ ทางตอนกลางของอินเดีย เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๓๔ ท่านเกิดในหมู่บ้านคนอธิศูทร (คนวรรณะจัณฑาล มีชื่อเรียกมากมาย เช่น หริจันทร์ จัณฑาล อธิศูทร ในที่นี้จะใช้คำว่า อธิศูทร) ชื่อว่า อัมพาวดี เป็นบุตรชายคนสุดท้อง คนที่ ๑๔ ของ รามจิ สักปาล และนางพิมมาไบ สักปาล ก่อนที่ท่านอัมเบดการ์จะเกิดนั้น มีเรื่องเล่าว่า ลุงของพ่อเขา ซึ่งไปบวชเป็นสันยาสี  (ผู้ถือสันโดษตามแนวคิดเรื่องอาศรม ๔ ของฮินดู) อาศัยอยู่ตามป่าเขา ได้มาพำนักในแถบละแวกบ้าน "รามจิ" ได้ทราบจากญาติคนหนึ่ง ว่าหลวงลุงของตนมาพำนักอยู่ใกล้ๆ จึงไปนิมนต์ให้มารับอาหารที่บ้าน นักบวชสันยาสีนั้นปฏิเสธ แต่ได้ให้พรแก่ "รามจิ" ว่า "ขอให้มีบุตรชาย และบุตรชายของเธอจงมีชื่อเสียง เกียรติยศในอนาคต ได้จารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ชาติอินเดีย" ซึ่งพรนั้นก็มาสำเร็จสมปรารถนา เมื่อวันที่ท่าน "อัมเบดการ์" เกิดนั้นเอง บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้ว่า "พิม" แม้จะเกิดมาในครอบครัวอธิศุทรที่ยากจน แต่บิดาก็พยายามส่งเสียจนเด็กชายพิม สามารถเรียนจนจบประถม ๖  แต่บิดาก็ไม่ได้หยุดที่จะให้บุตรได้รับความรู้ พยายามอดมื้อกินมื้อ เงินที่ได้รับจากการรับจ้างแบกหาม ก็เอามาส่งเสียเป็นค่าเล่าเรียนให้กับเด็กชายพิม จนกระทั่ง สามารถส่งให้เรียนจนจบชั้นมัธยม

ในระหว่างการเรียนนั้น ท่านจะต้องเผชิญหน้ากับความดูหมิ่นเหยียดหยามสร้างความช้ำใจในความทรงจำของท่านเช่นว่า เมื่อท่านเข้าไปในห้องเรียน ทั้งครู และเพื่อนร่วมชั้นต่างก็แสดงอาการขยะแขยง รังเกียจ ความเป็นคนวรรณะต่ำ และท่านก็ไม่ได้รับอนุญาตแม้แต่การที่จะไปนั่งบนเก้าอี้ในห้องเรียน ท่านต้องเลือกที่มุมห้อง แล้วปูกระสอบ นั่งเรียนอยู่อย่างนั้น เวลานำงานมาส่งให้อาจารย์ อาจารย์ก็มีทีท่ารังเกียจไม่อยากรับงานที่ท่านทำส่ง และเวลาที่ท่านถูกสั่งให้มาทำแบบทดสอบหน้าชั้นเรียน นักเรียนในห้องที่เอาปิ่นโต หรือห่ออาหารมากินที่โรงเรียน ที่วางไว้บนกระดานดำ จะเร่งกรูกันไปเก็บเอามาไว้ก่อน เพราะกลัวว่าความเป็นเสนียดของท่าน จะไปติดห่ออาหารของพวกเขาที่วางอยู่บนกระดานดำ แม้แต่เวลาที่ท่านจะไปดื่มน้ำที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้ ท่านก็ถูกห้ามอย่างเด็ดขาดที่จะไปจับต้องแท๊งค์น้ำ หรือแก้วที่วางอยู่เพราะ ทุกคนรังเกียจว่าเสนียดของท่าน จะไปติดที่แก้วน้ำ ท่านต้องขอร้องเพื่อนๆ ที่พอจะมีความเมตตาอยู่บ้าง ให้ช่วยตักน้ำแล้วให้ท่านคอยแหงนหน้า อ้าปาก ให้เพื่อนเทน้ำลงในปาก เพื่อป้องกันเสนียด ในความเป็นคนวรรณะต่ำ ซึ่งสร้างความเจ็บช้ำใจให้กับท่านยิ่งนัก


สภาพในห้องเรียน

อย่างไรก็ตามในโลกนี้ก็ยังมีความเมตตาอยู่บ้าง โดยครูท่านหนึ่งผู้มีเมตตาผิดกับคนในวรรณะเดียวกัน บางครั้งครูท่านนี้ก็จะแบ่งอาหารให้กับท่าน แต่ก็แสดงออกมากไม่ได้ เพราะอาจจะถูกคนในวรรณะเดียวกันเกลียดชังไปด้วย เหตุที่ท่านถูกรังเกียจเพราะนามสกุลของท่าน จะบ่งบอกถึงความเป็นอธิศูทร คือ "สักปาล" (นามสกุล ของคนอินเดีย เป็นตัวบ่งบอกวรรณะ) ครูท่านนั้นจึงได้นำนามสกุลของตน เปลี่ยนให้กับท่านใหม่ โดยแก้ที่ทะเบียนของโรงเรียน โดยให้ใช้นามสกุลว่า "อัมเบดการ์" และจากนามสกุลอัมเบดการ์นี้เอง ทำให้หลายๆคนคิดว่าท่านเป็นคน ใน วรรณะพราหมณ์ 

หลังจากอดทนต่อความยากลำบาก และการถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ที่รู้ว่าท่านเป็นคนอธิศูทร จนในที่สุดท่านก็ได้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่๖ ซึ่งนับว่าสูงมาก สำหรับคนวรรณะนี้ แต่บิดาของท่านก็ไม่สามารถที่จะส่งเสียให้เรียนต่อไปได้อีก โชคดีที่มหาราชาแห่งเมืองบาโรดา ซึ่งเป็นมหาราชาผู้มีเมตตา พระองค์ไม่มีความรังเกียจคนต่างวรรณะ ปรารถนาจะยกระดับการศึกษาแม้คนระดับอธิศูทร และในครั้งนั้นได้มีนักสังคมสงเคราะห์พาท่าน เข้าเฝ้ามหาราชา พระองค์ได้ทรงพระราชทานเงินทุนในการศึกษาต่อให้เป็นเงินทุนเดือนละ ๒๔ รูปี ทำให้ท่านสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ ต่อมามหาราชาแห่งบาโรดา ได้ทรงคัดเลือกนักศึกษาอินเดีย เพื่อส่งให้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศอเมริกา ซึ่งท่านก็ได้รับการคัดเลือก และในครั้งนี้ท่านได้พบกับสิ่งที่เรียกว่า อิสรภาพและความเสมอภาค เพราะที่สหรัฐอเมริกานั้น ไม่มีคนแสดงอาการรังเกียจในความเป็นคนอธิศูทร เหมือนอย่างในประเทศอินเดีย และในระหว่างที่ท่านศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ท่านได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาและค้นคว้า ลัทธิ ความเชื่อ ปรัชญา และศาสนาทุกศาสนา ทำให้ท่านได้ทราบว่าศาสนาที่สามารถสร้างความเสมอภาคให้กับมนุษย์ชาติได้มีเพียง "พุทธศาสนา" เท่านั้น  และหลังจากที่ท่านได้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเอกแล้ว เรียกว่ามีชื่อนำหน้าว่า ด.ร.  ท่านก็ได้เดินทางกลับมาอินเดีย และพยายามต่อสู้เพื่อคนในวรรณะเดียวกัน           ไม่ใช่แต่เท่านั้นท่านยังพยายามต่อสู้กับความอยุติธรรมที่สังคมฮินดู ยัดเยียดให้กับคนในวรรณที่ต่ำกว่าอีกด้วย


ด.ร.อัมเบดก้าร์ ในวัยหนุ่ม

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ด.ร. อัมเบดการ์ ได้เป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยซิดนาห์ม ในบอมเบย์ ในปี ๒๔๖๑ ต่อมาได้รับพระราชทานอุปถัมภ์ จากเจ้าชายแห่งเมืองโครักขปูร์ ซึ่งเป็นผู้มีพระทัยเมตตาเช่นเดียวกับมหาราชาแห่งบาโรด้า ที่ปรารถนาจะถอนรากถอนโคนความอยุติธรรม ที่สังคมฮินดู   กีดกันคนในวรรณะอื่นๆ   โดยได้ทรงอุปถัมภ์ให้คนอธิศุทร มารับราชการในเมืองโครักขปุร์ แม้แต่นายควาญช้าง พระองค์ก็เลือกจากคนอธิศูทร 

เจ้าชายแห่งโครักขปุร์ ได้ทรงอุปถัมภ์ในการจัดทำหนังสือพิมพ์ "มุขนายก" หรือ "ผู้นำคนใบ้" ของ ด.ร.อัมเบดการ์ เช่นอุปถัมภ์ค่ากระดาษพิมพ์ และอื่นๆ  โดย "อัมเบดการ์" ไม่ได้เป็นบรรณาธิการเอง แต่อยู่เบื้องหลังและเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ในบทความครั้งหนึ่ง มีคำพูดที่น่าสนใจว่า "อินเดียเป็นดินแดนแห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สังคมฮินดูนั้นช่างสูงส่งประดุจหอคอยอันสูงตระหง่าน มีหลายชั้นหลายตอน แต่ไม่มีบันไดหรือช่องทาง ที่จะเข้าไปสู่หอคอยอันนั้นได้ คนที่อยู่ในหอคอยนั้นไม่มีโอกาสที่จะลงมาได้ จะติดต่อกับคนในหอคอยเดียวกันในอีกชั้นหนึ่งก็ทำไม่ได้ ใครเกิดในชั้นใดก็ตายในชั้นนั้น" ท่านได้กล่าวถึงว่า สังคมฮินดูว่ามีองค์ประกอบอยู่สามประการ คือ พราหมณ์ มิใช่พราหมณ์ และอธิศูทร พราหมณ์ผู้สอนศาสนามักกล่าวว่า พระเจ้ามีอยู่ในทุกหนแห่ง ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าก็ต้องมีอยู่ในอธิศูทร แต่พราหมณ์กลับรังเกียจคนอธิศูทร เห็นว่าเป็นตัวราคี นั่นแสดงว่าเขากำลังเห็นพระเจ้าเป็นตัวราคีใช่หรือไม่

ด.ร.อัมเบดก้าร์ ในห้องสมุด

ด.ร.อัมเบดการ์ มีผลต่อความเคลื่อนไหวหลายอย่างในอินเดียขณะนั้น ท่านเป็นอธิศูทรคนแรก ที่ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช ได้เป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ท่านเป็นผู้ชี้แจงต่อที่ประชุมในสภา โดยการอนุมัติของ ด.ร.ราเชนทรประสาท ให้ชี้แจงอธิบายต่อผู้ซักถาม ถึงบางข้อบางประเด็นในรัฐธรรมนูญหนังสือพิมพ์บางฉบับลงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า "ด.ร.อัมเบดการ์ ทำหน้าที่ชี้แจงอธิบาย เรื่องร่างรัฐธรรมนูญต่อผู้ร่วมประชุม ประดุจพระอุบาลีเถรเจ้า วิสัชชนาข้อวินัยบัญญัติ ในที่ประชุมปฐมสังคายนา ต่อพระสงฆ์ ๕๐๐ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ฉะนั้น" ซึ่งถือได้ว่าท่านเป็นผู้ต่อสู้เพื่อทำลายความอยุติธรรม ที่ชนในชาติทำกับคนในชาติเดียวกัน  นอกจากนั้นท่านยังได้ผลักดันให้มีสัญญาลักษณ์ของพุทธศาสนาปรากฏเป็นสัญญาลักษณ์ของอินเดียจนถึงปัจจุบัน คือ สัญญาลักษณ์ของพุทธศาสนา เป็นพระธรรมจักรปรากฏที่ธงชาติ


ธงชาติของประเทศอินเดีย
  
และได้นำสัญญาลักษณ์หัวเสาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  กษัตริย์ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง มาใช้เป็นตราสัญญาลักษณ์ประจำชาติของอินเดีย อีกด้วย


สัญญาลักษณ์หัวเสาพระเจ้าอโศกมหาราช

ด.ร.อัมเบดการ์ แต่งงานมีครอบครัว สองครั้ง ครั้งแรกแต่งกับคนในวรรณะเดียวกัน ชื่อว่านางรามาไบ ครั้งที่สองท่านได้พบรักกับแพทย์หญิงในวรรณะพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า ชาดา คาไบ ในโรงพยาบาลที่เขาไปรับการรักษาอาการป่วย เป็นครั้งแรกที่คนในวรรณะต่ำได้แต่งงานกับคนในวรรณะสูง คือวรรณะพราหมณ์ ขณะที่อายุท่านได้ ๕๖ ปี โดยมีนักการเมือง พ่อค้า คนในวรรณะต่างๆมาร่วมงานแต่งงานของท่านมากมาย ต่างจากครั้งแรก ที่ท่านแต่งงานในตลาดสด
หลังจากนั้น ด.ร.อัมเบดการ์ ได้ลงจากเก้าอี้ทางการเมือง เพราะท่านไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งทางการเมือง การที่ท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ก็เพราะท่านต้องการทำงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนที่อยู่ในวรรณะต่ำ ที่ได้รับการข่มเหงรังแกเท่านั้น  


การแสดงตนเป็นพุทธมามกะเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมาก กล่าวคือ ด.ร.อัมเบดการ์ได้เป็นผู้นำชาวพุทธศูทรและอธิศูทรกว่า 5  แสนคน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจมาก ตามจริงท่านดร.อัมเบดการ์ สนใจพระพุทธศาสนามาก่อนหน้านี้แล้ว จากการได้ศึกษาค้นคว้าในห้องสมุดขณะศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย   และได้อ่านพุทธประวัติที่เขียนโดยท่านพระธัมมานันทะ โกสัมพี ชื่อว่า "ภควาน บุดดา" (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ซึ่งท่านได้ทราบได้จากการศึกษาว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีข้อรังเกียจในเรื่องวรรณะ ไม่ปิดกั้นการศึกษาพระธรรม ให้ความเสมอภาค และภราดรภาพแก่คนทุกชั้น ซึ่งในจิตใจของ ด.ร.อัมเบดการ์ นั้น มีความเป็นชาวพุทธอยู่ก่อนแล้ว แต่ท่านต้องการทำให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น สิ่งที่ตั้งใจไว้ก็คือ การได้ปฏิญาณตนเป็น ชาวพุทธ พร้อมกับพี่น้องชาวอธิศูทร ในงานฉลองพุทธชยันติ (Buddhajayanti)

ด.ร.อัมเบดการ์ ได้กล่าวสดุดีพระพุทธศาสนา และได้เขียนหนังสือเผยแผ่พระพุทธธรรมหลายเล่ม เช่น"พุทธธรรม "(Buddha and His Dhamma) "ลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา " (The Essential of Buddhism) และคำปาฐกถา อื่นๆ ที่ ได้รับการตีพิมพ์ภายหลัง เช่น "การที่พระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดีย" (The down fall of Buddhism in india) เป็นต้น

ก่อนหน้าที่จะมีงานฉลองพุทธชยันตี เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนั้นอินเดียมีชาวพุทธอยู่แทบจะเรียกได้ว่าเป็น "อัพโภหาริก" คือ น้อยมากจนเรียกไม่ได้ว่ามี แต่เหตุที่มีงานฉลองนี้ขึ้นได้ เนื่องจากคำปราศรัยของท่านยวาห์ ราล เนรูห์ ซึ่งท่านได้กล่าวในที่ประชุมโลกสภา (รัฐสภาของอินเดีย เรียกว่า โลกสภา) เรื่องการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ว่า "พระพุทธเจ้าเป็นบุตรที่ปราดเปรื่องยิ่งใหญ่ และรอบรู้ที่สุดของอินเดีย  สถานการณ์ในโลกนี้ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เคียดแค้น และรุนแรง คำสอนของพระพุทธเจ้า ส่องแสงเหมือนดวงอาทิตย์ที่รุ่งโรจน์ ไม่มีคนอินเดียคนใด ที่จะนำเกียรติยศ เกียรติภูมิ กลับมาสู่อินเดียได้เท่ากับพระพุทธเจ้า หากเราไม่จัดงานฉลองให้พระองค์แล้ว เราจะไปฉลองวันสำคัญนี้ให้กับใคร" และได้กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าไม่ขอนับถือศาสนาใดๆในโลกทั้งนั้น แต่หากจะต้องเลือกนับถือแล้ว ข้าพเจ้าขอเลือกนับถือพระพุทธศาสนา"  

ในงานฉลองพุทธชยันตินั้น รัฐบาลอินเดียได้จัดสรรงบประมาณการจัดงาน ฉลองตลอด ๑ปีเต็ม โดยวนเวียนฉลองกันไปตามรัฐต่างๆ  โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้อย่างมากมาย เช่น ทำตัดถนนเข้าสู่พุทธสังเวชนียสถานต่างๆให้ดีขึ้น สร้างธรรมศาลา อำนวยความสะดวกแก่ผู้มาร่วมงานพุทธชยันตีจากประเทศต่างๆ จัดพิมพ์หนังสือสดุดี พระพุทธศาสนา จัดทำหนังสือวิชาการพระพุทธศาสนา โดยนักปราชญ์หลายท่านเขียนขึ้น ประธานาธิบดีราธกฤษนั้น เขียนคำนำสดุดีพุทธคุณ ให้ชื่อว่า "2500 years of Buddhism" (๒๕๐๐ ปีแห่งพระพุทธศาสนา) ทั่วทั้งอินเดียก้องไปด้วยเสียง "พุทธัง สรณัง คจฺฉามิ"

สำหรับการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะนั้น ท่านอัมเบดการ์ได้นำชาววรรณะศูทรและชาวอธิศูทร ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ที่เมืองนาคปูร์ สาเหตุที่ท่านเลือกเมืองเล็กๆแห่งนี้ แทนที่จะเป็นเมืองใหญ่อย่างบอมเบย์ หรือเดลลี ท่านได้ให้เหตุผลว่า "ผู้ที่ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระยะแรกๆ นอกจากพระสงฆ์ คือพวกชนเผ่านาค ซึ่งเคยถูกพวกเผ่าอารยัน กดขี่ข่มเหง ต่อมาพวกเผ่านาได้พบกับพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมจนพวกเผ่านาคเหล่านั้นเลื่อมใส ปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่ว เมืองนาคปูร์นี้เป็นเมืองที่พวกเผ่านาคตั้งหลักแหล่งอยู่" (คำกล่าวของท่าน อัมเบดการ์มีมูลอยู่ไม่น้อย และจะว่าไปแล้ว หลังจากพระพุทธศาสนา เริ่มถูกทำลายจากอินเดีย เมืองนาคปูร์เป็นเมืองที่มีชาวพุทธอาศัยอยู่มาก และเป็นเมืองที่มีชาวศุทร หรือคนวรรณะต่ำอยู่มากอีกด้วย ดังนั้นศูนย์กลางพุทธศาสนิกชนในอินเดียปัจจุบันที่เป็นคนวรรณะศูทร จึงอยู่ที่เมืองนาคปูร์  


การปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ ๕ แสนคน

ในการปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ ๕ แสนคน เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙นั้น มีพระภิกษุอยู่ในพิธี ร่วมเป็น สักขีพยาน ด้วย ๓ รูป คือ ท่านพระสังฆรัตนเถระ (Ven. M. Sangharatana Thera) พระสัทธราติสสะเถระ (Ven. S. Saddratissa Thera) และพระปัญญานันทะเถระ (Ven. Pannanand Thera) ในพิธีมีการประดับธงธรรมจักรและสายรุ้งอย่างงดงาม ในพิธีนั้นผู้ปฏิญาณตนได้กล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ และคำปฏิญญา ๒๒ ข้อ ของท่านอัมเบดก้าร์
  1. ข้าพเจ้าจะไม่บูชาพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุต่อไป
  2. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระราม พระกฤษณะ เป็นพระเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เคารพต่อไป
  3. ข้าพเจ้าจะไม่เคารพบูชาเทวดาทั้งหลายของศาสนาฮินดูต่อไป
  4. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อลัทธิอวตารต่อไป
  5. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ การเชื่อเช่นนั้น คือคนบ้า
  6. ข้าพเจ้าจะไม่ทำพิธีสารท และบิณฑบาตแบบฮินดูต่อไป
  7. ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า
  8. ข้าพเจ้าจะไม่เชิญพราหมณ์มาทำพิธีทุกอย่างไป
  9. ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน
  10. ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน
  11. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยครบถ้วน
  12. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ โดยครบถ้วน
  13. ข้าพเจ้าจะแผ่เมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก
  14. ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมยคนอื่น
  15. ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม
  16. ข้าพเจ้าจะไม่พูดปด
  17. ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มสุรา
  18. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา
  19. ข้าพเจ้าจะเลิกนับถือศาสนาฮินดู ที่ทำให้สังคมเลวทราม แบ่งชั้นวรรณะ
  20. ข้าพเจ้าเชื่อว่าพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาที่แท้จริง
  21. ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่ข้าพเจ้าหันมานับถือพระพุทธศาสนานั้นเป็นการเกิดใหม่ที่แท้จริง
  22. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
หลังจากปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะแล้ว ท่านได้กล่าวว่า   "ข้าพเจ้าเกิดมาจากตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าจะขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชนจากคำปราศรัยในที่ประชุมปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ของ ด.ร.อัมเบดการ์นั้น เป็นการแสดงถึงความเข้าใจอย่างถูกต้อง เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของท่าน ต่อมาได้มีผู้พิมพ์คำปราศรัยนี้ลงเป็นหนังสือ เป็นคำปราศรัยที่ยาวถึง ๑๒๖ หน้า ขนาด ๘ หน้ายก มีตอนหนึ่งที่ควรกล่าวถึง เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย   พวกเธอมาจากตระกูลต่างๆกัน ย่อมมีความเสมอกัน     เมื่อมาสู่ธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนมหาสมุทร ย่อมเป็นที่รวมของน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำและทะเลต่างๆ เมื่อมาสู่มหาสมุทรแล้วก็ไม่สามารถจะแยกได้ ว่าน้ำส่วนไหนมาจากที่ใด"

"พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ปฏิเสธระบบวรรณะ และคนบางคนไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะโจมตีพระพุทธศาสนา หรือ ไม่มีเหตุผลมาหักล้างคำสอนได้ โดยอ้างเอาอย่างหน้าด้านๆว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของพวกนอกวรรณะ"   "ถ้าหากจะมีพระนามใดที่โจษขานกันนอกประเทศอินเดีย ที่โด่งดัง และกล่าวกันด้วยความเคารพสักการะแล้ว จะมิใช่พระนามของพระราม หรือของพระกฤษณะ แต่จะเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า เท่านั้น "

เมื่อนักหนังสือพิมพ์ถามถึงเหตุผลในการนับถือพระพุทธศาสนา ท่านได้กล่าวว่า  "เนื่องจากการ กระทำอันป่าเถื่อนของชาวฮินดูที่มีต่อคนวรรณอธิศูทร  อย่างเช่นท่านมายาวนานกว่า ๒๐๐๐ ปี"  พร้อมกันนั้นท่านได้กล่าวต่อว่า "พอเราเกิดมาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นอธิศูทรซึ่งมีค่าต่ำกว่าสุนัข อะไรจะดีเท่ากับการผละออกจากลัทธิอันป่าเถื่อน ปลีกตัวออกจากมุมมืด มาหามุมสว่าง พุทธศาสนาได้อำนวยสุขให้ทุกคนโดยไม่เลือกหน้า โดยไม่เลือกว่าเป็นวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรือแม้แต่อธิศูทร  ตามจริงข้าพเจ้ามีความตั้งใจต้องการเปลี่ยนศาสนามาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๐ แล้ว  แต่สถานการณ์ยังไม่อำนวย ข้าพเจ้าจึงขอกล่าวว่าระบบวรรณะควรสูญสิ้นไปจากอินเดียเสียที  แต่ตราบใดที่ยังมีการนับถือพระเวทอยู่  ระบบนี้ก็ยังคงอยู่กับอินเดียตลอดไป  อินเดียก็จะได้รับความระทมทุกข์ ความเสื่อมโทรมตลอดไปเช่นกัน  พวกพราหมณ์พากัน จงเกลียดจงชังพระพุทธศาสนา แต่หารู้ไม่ว่าพระสงฆ์ในพุทธกาล ๙๐ % เป็นคนมาจากวรรณะพราหมณ์ทั้งสิ้น ข้าพเจ้าอยากจะถามพวกพราหมณ์ในปัจจุบันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาหากจะมีการหยิบยื่นสิ่งใดๆให้กับคนในชาติเดียวกัน แต่ต่างวรรณะกันเท่านั้น

บั้นปลายชีวิต
เป็นที่น่าเสียดายว่า หลังจากพิธีปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธได้ ๓ เดือน ท่านอัมเบดการ์ได้ถึงแก่กรรม ด้วยโรคร้าย ในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ (ในอินเดียเป็นปี ๒๕๐๐ อินเดียนับพุทธศักราชเร็วกว่าไทย ๑ ปี เช่นเดียวกับพม่า และ ลังกา)  เสมือนหนึ่งว่าท่านได้ถูกกำหนดมาให้เป็นผู้ที่นำพาพระพุทธศาสนากลับมาสู่อินเดียอีกครั้งหนึ่ง  

เมื่อท่านอัมเบดการ์ถึงแก่กรรม  ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายยุ่งเหยิงให้กับชาวศูทรเป็นอันมาก  เพราะยังไม่ทันที่ท่านจะพาพวกเขาไปถึงจุดหมาย  ท่านก็ต่้องมาด่วนถึงแก่กรรมไปเสียก่อน เสมือนเรือที่ขาดหางเสือ    หลายท่านแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง เมื่อข่าวการมรณะกรรมของท่าน แพร่สะพัดออกไป ได้มี ทั้งรัฐมนตรีนักการเมืองเดินทางมาเคารพศพ และแสดงความเสียใจแก่ภรรยาของท่าน โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีเนรูห์ได้กล่าวอย่างเศร้าสลดว่า "เพชรของรัฐบาลได้หมดไปเสียแล้ว"

ในวันต่อมา นายกรัฐมนตรีเนรูห์ ได้กล่าวไว้อาลัย ด.ร.อัมเบดการ์ และสดุดีถึงคุณงามความดีของเขาอย่างมากมาย ตอนหนึ่งเขาได้ กล่าวว่า "ชื่อของ "อัมเบ็ดการ์" จะต้องถูกจารึกและจดจำต่อไปอีกชั่วกาลนาน  โดยเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อลบล้าง ความอยุติธรรมในสังคมฮินดู "อัมเบดการ์" ต่อสู้กับสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าเป็นที่จำต้องต่อสู้ "อัมเบดการ์" ได้เป็นคนปลุกให้สังคมของฮินดูห้ตื่นจากความหลับไหล" จากนั้นจึงให้มีการหยุดการประชุมของรัฐสภา เพื่อไว้อาลัยแด่ ด.ร. อัมเบดการ์

ต่อจากนั้นได้มีบุคคลสำคัญต่างๆ ที่ทราบข่าวการมรณกรรมของด.ร.อัมเบดการ์   ได้ส่งโทรเลขไป แสดงความเสียใจต่อภรรยาของดร.อัมเบดการ์   โดย "มุขมนตรีของบอมเบย์" คือนายชะวาน ถึงกับประกาศให้วันเกิดของอัมเบดการ์ เป็นวันหยุดราชการของรัฐ  เพื่อเป็นเกียรติและสดุดีแก่ดวงวิญญาณของท่านอัมเบดการ์   โดยภรรยาของท่านต้องการที่จะนำศพของท่านอัมเบดการ์ ไปทำพิธียังบอมเบย์ ซึ่งรัฐบาลก็ได้จัดเที่ยวบินพิเศษให้   เมื่อเครื่องบินนำศพมาถึงบอมเบย์ ประชาชนหลายหมื่นคน ได้มารอรับศพของอัมเบดการ์ ซึ่งหลายคนไม่สามารถอดกลั้นความเศร้าโศรกไว้ได้ พากันร่ำไห้ไปตามๆกัน

ด.ร.อัมเบดการ์ ผู้เกิดมาจากสังคมอันต่ำต้อย ต่อสู้เพื่อตัวเอง เพื่่อสังคม และเพื่อประเทศชาติอันเป็นส่วนรวม ตั้งแต่เกิดจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต บัดนี้ ท่านได้จากไปแล้ว ทิ้งแต่ความดีเอาไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สรรเสริญ  บรรดาชาวพุทธในอินเดียเชื่อกันว่า วิญญาณของท่านอัมเบดการ์คงยังไม่ไปไหน แต่จะยังคงวนเวียนอยู่กับพวกเขา และคอยช่วยเหลือพวกเขา เพราะอัมเบดการ์ไม่เคยทิ้งคนจน ไม่เคยลืมคนยาก มีแต่การช่วยเหลือพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหลังจากที่พวกเขาสวด "พุทธัง สรณัง คจฺฉามิ  ธรรมัง สรณัง คจฺฉามิ  สังฆัง สรณัง คจฺฉามิ "  แล้ว  พวกเขายังอ้างเอาด.ร.อัมเบดการ์เป็นสรณะหรือที่พึ่งด้วย โดยสวดว่า "พิมพัง (ขื่อเดิมของอัมเบดการ์) สรณัง คัจฉามิ"  อยู่จนทุกวันนี้


อนุสาวรีย์ของด.ร.อัมเบดก้า


คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
  • มีความมุมานะพยายามในการศึกษาเล่าเรียน แม้จะประสบความยากลำบาก ความเดือดร้อนมากมายเพียงใด ก็ก้มหน้ามุมานะต่อไปโดยไม่หยุดยั้งจนกระทั่งจบปริญญาเอก นี่คือความสำเร็จของเด็กยากจนที่เกิดในวรรณะศูทรที่ได้มาด้วยความมานะพยายาม
  • มีความอดทนเป็นเลิศ เมื่อครั้งศึกษาเล่าเรียน ดร.เอ็มเบดการ์ ได้เผชิญกับปัญหาต่างๆถูกข่มเหงจากนักศึกษาต่างวรรณะ บางคนได้ข่มเหงรังแก ทุบตีอย่างทารุณ แต่ท่านก็ได้กัดฟันต่อสู้ต่อเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยความอดทน และได้นำเหตุการณ์เหล่านั้นมาเป็นกำลังใจให้มีความมุมานะพยายาม ในการศึกษาเล่าเรียนยิ่งขึ้น
  • มีสติปัญญาดี จนสามารถเรียนจนจบปริญญาเอก
  • ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ดร.เอ็มเบดการ์ ได้นำหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักในการปฏิวัติระบบชนชั้นวรรณะของสังคมอินเดีย  ดังที่ท่านประกาศไว้ตอนหนึ่งว่า "ระบบวรรณะนั้นเป็นความบกพร่อง ใครเกิดมาในวรรณะเลวก็ต้องเลวอยู่ทั้งปีทั้งชาติ จะทำอย่างไรก็ไม่มีทางดีขึ้นมาได้ ข้อนี้จึงเป็นเรื่องฟังไม่ขึ้นอีกต่อไป......กฏแห่งกรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ไม่มีใครลบล้างได้
  • พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญความเพียร ชัยชนะของแต่ละคนขึ้้นอยู่กับความเพียร ยาจกก็สามารถยกตนขึ้นเป็นมหาเศรษฐีได้ เพราะความเพียร ด้วยที่ท่านมีน้ำใจที่หนักแน่น มีอุดมคติที่สูงส่ง กล้าหาญ เสียสละ จึงได้รับการสมญานามว่า มนุษย์กระดูกเหล็ก ฝีปากกล้า และอภิชาตบุตรของชาวหริจันทร์ (ชาวศูทร)


3 ความคิดเห็น:

  1. เป็นเนื่อที่ควรนำมาเผยแพร่ให้นะ รู่สึกว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จาก สมาคมพระนักศึกษาไทย เมืองพาราณสี ขอเชิญเยี่ยมชมบล็อกสมาคมได้ที่ thaibhu.blogspot.com

    ตอบลบ
  2. ชอบตรงให้อาหารปลานี้แหละ >_<!!~

    ตอบลบ
  3. 👏เป็นเนื้อหาที่ดีมากค่ะขอบคุณที่ทำมาให้อ่านนะคะ

    ตอบลบ