พานิชพล มงคลเจริญ

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

Boss มากมาย Leader น้อยนิด

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  ย่อมต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  เพื่อพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือกัน และเพื่อให้กลุ่มมีพัฒนาการที่ดี  จึงต้องมีผู้ชี้นำกลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นหัวหน้าเผ่าในการปกครองแบบโบราณ    และรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่จนเป็นประเทศ ที่มีกษัตริย์หรือจักรพรรดิหรือชื่ออื่นๆเป็นผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งสิ่งสำคัญในการปกครองก็คือการให้ผู้อยู่ใต้ปกครองอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพียบพร้อมด้วยปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค


ปัจจุบันมีหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน มากมาย  ที่มีแต่ "Boss" หรือหัวหน้า หรือผู้ที่เป็น "ผู้สั่ง"ที่มิได้นำคุณธรรมมาใช้ในการปกครอง  ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทำให้ไม่สามารถนำพาองค์กรให้มีความเจริญก้าวหน้าได้   แต่สำหรับผู้ใช้ที่คุณธรรมในการปกครองเราเรียกว่า "Leader" หรือ "ผู้นำ"  


ผู้ที่มีคุณสมบัติการเป็น "ผู้นำ" เราจะเห็นได้จากการที่เขามักแสดงพฤติกรรมในเชิงบวก เช่น

  • ฝึกให้คนทำงานแทนการบังคับให้ทำงาน   
  • ใช้ไมตรีแทนการใช้อำนาจ
  • สร้างความศรัทราแทนการสร้างความกลัว
  • ช่วยแก้ปัญหาแทนการตำหนิ


การที่จะให้ผู้อยู่ใต้ปกครองอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข   และร่วมกันพัฒนาองค์กรให้เจริญรุ่งเรืองได้นั้น   ผู้ปกครองที่ดี หรือผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำนั้นจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรม  ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงมอบหลัก "ทศพิธราชธรรม" ให้ "กษัตริย์"ผู้ปกครองประเทศในสมัยพุทธกาลให้ใช้เป็นคุณธรรมประจำตน



หลักแห่ง "ทศพิธราชธรรม" นี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะกับ "กษัตริย์" เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้กับผู้ที่อยู่ในสถานะที่ต้องปกครองผู้คนไม่ว่าในระดับใด ซึ่งหลัก "ทศพิธราชธรรม"  ประกอบด้วยหลักการปฏิบัติตน 10 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1  คือ "ทาน" หมายถึง "การให้" ที่ไม่เลือกกลุ่มเลือกคน ทั้งนี้เพื่อก่อให้ความสงบสุข
             
ประการที่ 2  คือ "ศีล"  หมายถึง "ความประพฤติสิ่งที่ดีงาม" ซึ่งก็คือการรักษาศีล ละเว้นในสิ่งที่ ไม่เหมาะไม่ควร                             

ประการที่ 3  คือ "ปริจจาคะ" หมายถึง "การเสียสละ" เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม

ประการที่ 4  คือ "อาชชวะ"  หมายถึง "ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจ" ไม่ทุจริตและดูแลไม่ให้เกิดการทุจริตได้
                                 
ประการที่ 5  คือ "มัททวะ" หมายถึง "ความสุภาพอ่อนโยน" น้อมน้อมกับผู้ใหญ่  ถ่อมตนกับผู้น้อย ไม่เลือกคนไม่เลือกกลุ่ม
                                 
ประการที่ 6  คือ "ตะปะ" หมายถึง "ความเพียร" ขยันตั้งใจปฏิบัติงานอย่างไม่เบื่อหน่าย              

ประการที่ 7  คือ "อักโกธะ" หมายถึง "ความไม่โกรธ" มีอารมณ์สุขุมเยือกเย็น มีเมตตา

ประการที่ 8  คือ "อวิหิงสา" หมายถึง "การไม่เบียดเบียน" ไม่รบกวนจนผู้น้อยต้องเดือดร้อน

ประการที่ 9  คือ "ขันติ" หมายถึง "ความอดทน" ไม่หมดกำลังใจและไม่ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่

ประการที่10 คือ "อวิโรธนะ" หมายถึง "ความยุติธรรม" กับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน

หลัก "ทศพิธราชธรรม" ทั้ง 10 ประการนี้  เป็นหลักการปกครองที่ดีเลิศ แต่นับวันเราจะหาผู้ที่ใช้คุณธรรมในการปกครองยากขึ้นทุกที   ทำให้สมาชิกในองค์กร ไม่มีความรักในองค์กร  ไม่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ อยู่แบบตัวใครตัวมัน  มีความเห็นแก่ตัวสูง ในที่สุดองค์กรนั้นก็คงต้องล่มสลาย นี่ก็เป็นเหตุแห่งการที่ผู้ปกครองในองค์กร หรือหน่วยงานทุกระดับส่วนใหญ่ไม่มีคุณธรรม  ไม่ยึดหลักแห่ง "ทศพิธราชธรรม"  เพราะสังคมปัจจุบันมีแต่ "Boss" แต่ขาด "Leader"






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น