พานิชพล มงคลเจริญ

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

"แรงศรัทธา" พลังอันยิ่งใหญ่สรรสร้่างได้ทุกสรรพสิ่ง

ศรัทธาเป็นความเชื่อของบุคคลต่อสิ่งต่างๆ สำหรับพุทธศาสนาจะกล่าวถึง "ศรัทธา 4" คือ เชื่่อกฏแห่งกรรม เชื่อผลแห่งกรรม เชื่อว่าสรรพสัตว์มีกรรมของตนเอง และความเชื่อในการตร้สรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งศรัทธาที่เป็นคุณสมบัติประจำของชาวพุทธนี้เอง ก่อให้เกิดการปฏิบัติในการให้ทาน การรักษาศีล และการปฏิบัติภาวนา/สมาธิ เพื่อให้ตนพ้นทุกข์ก้าวสู่สายธารแห่งธรรม นำจิตวิญญานให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร

การให้ทานเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธา ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด "ทาน"ที่ผู้ให้จะได้รับอานิสงส์มากที่สุด จะต้องประกอบด้วย 3 กาล คือ มีเจตนาที่จะให้ ขณะให้มีเจตนาและเต็มใจให้ และ ปิติยินดีในการให้ของตน ซึ่งอานิสงส์แห่งทานนี้ จะส่งผลบุญต่อผู้ยินดีร่วมอนุโทนาด้วย ถึงแม้ผู้นั้นจะไม่มีเจตนาแต่แรก และไม่ได้ใช้ทรัพย์สินหรือสิ่งของใดๆของตนให้ทาน แต่ปิติยินดีในการให้ทานของผู้อื่น ก็จะได้รับบุญเช่นกัน ซึ่งผลบุญนี้จะเทียบเคียงได้กับการให้ทานในกาลที่ 3

คำว่า "ทาน" สำหรับชาวพุทธ เป็นการให้ที่เกิดจากศรัทธา หากการให้นั้นได้พิจารณาร่วมกับปัญญา ถือได้ว่าเป็นการให้อย่างชาญฉลาด อานิสงส์ก็จะตกอยู่กับทุกฝ่าย การทำนุบำรุงพุทธศาสนาของชาวพุทธเรา มักมุ่งเน้นในการสร้างสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเห็นได้จากมีวัดวาอารามเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเชื่อว่าการสร้างวัดหรือสร้างพระเป็นการสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่ จนเราลืมไปว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธเราควรให้การสนับสนุน ก็คือการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งคงไม่มีองค์กรใดจะทำได้ดีกว่าสถาบันศาสนา

ปัจจุบันชาวพุทธเราปล่อยให้นักการศึกษา ซึ่งได้รับศึกษาและได้รับความรู้ทางโลกเพียงด้านเดียว จัดการศึกษาเพียงลำพัง  จึงทำให้การศึกษาสนองเพียงกิเลสของมนุษย์ให้เพิ่มพูนมากขึ้น จะเห็นได้จากพฤติกรรมการแก่งแย่งกันเพื่อความก้าวหน้าของตนเองและพวกพร้อง โดยการปลูกฝังพฤติกรรมที่เอาเปรียบให้กับลูกหลานของตนเอง ด้วยการวิ่งฝากเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเสียเงินเสียทองเท่าไรไม่ว่า ขอให้ลูกหลานของฉันได้เข้าเรียน   เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ฝากให้เข้าทำงานอีก และเมื่อได้งานทำแล้ว ยังฝากให้มีตำแหน่งสำคัญๆในองค์กรนั้นๆอีก   ดังนั้นลูกหลานของคนที่มีฐานะยากจน ที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนดีก็คงเป็นได้แค่เพียงผู้ตามที่มีผู้ด้อยปัญญาและด้อยคุณธรรมเป็นผู้นำ

แต่หากวัดทุกวัดในประเทศ พร้อมใจกันแปรสภาพเพื่อรับบทบาทในการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ โดยใช้ปัจจัยจากแรงศรัทธาของญาติโยม ปรับเปลี่ยนจากการสร้างสิ่งก่อสร้างมาเป็นการสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยแต่ละวัดต้องดำเนินการตั้งโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนเอกชนภายใต้มูลนิธิของวัดนั้นๆ และใช้ทรัพยากรผู้สอน ซึ่งอาจจะเป็นครูผู้เกษียณอายุแล้ว หรือพระภิกษุที่มีความรู้ ตลอดจนคนในชุมชน และปราญ์ชาวบ้าน ช่วยกันสอนสั่งบุตรหลาน เพื่อเป็นกำลังของชาติที่ดีมีคุณภาพในอนาคต สำหรับโรงเรียนของหน่วยราชการที่ใช้พื้นที่ของวัดในในการจัดการศึกษา  คงต้องขอคืนมาให้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิของวัด  และร่วมกันระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา เพราะนับวันการจัดการศึกษาด้วยการนำพาของนักการศึกษาเหล่านี้ ไม่สามารถสร้างคนให้เป็นมนุษย์ได้โดยสมบูรณ์

หากจะสร้างประชากรที่ดีและมีคุณภาพให้เกิดขึ้นในอนาคต ชาวพุทธเราคงจะต้องหันมาช่วยกันสนับสนุนวัด เพื่อให้เป็นสถาบันหลักในการจัดการศึกษา ซึ่งจะเห็นได้จากความสำเร็จของโรงเรียนภายใต้มูลนิธินักบุญในศาสนาคริสต์  ซึ่งมีผู้นิยมเรียนเป็นจำนวนมากและอาจนิยมเรียนมากกว่าโรงเรียนที่ภาครัฐจัดการศึกษาอีก   ซึ่งถึงแม้ว่าโรงเรียนเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงก็ตาม    แต่หากจะให้โรงเรียนภายใต้มูลนิธิของวัดมีผู้นิยมเข้าเรียน อันดับแรกต้องจัดการศึกษามุ่งสู่คุณธรรมและความดีตามหลักพุทธ    อันดับสองก็คือภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับที่สื่อสารได้ อันดับสามคือ ภาษาจีน และภาษาของประเทศกลุมอาเซียน อันดับสี่ เน้นการสอนวิชา คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิชาสังคมศึกษา วิชาความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และมนุษยชาติ และวิชาที่ว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  เป็นต้น

ตราบใดที่เราไว้วางใจและปล่อยให้ภาครัฐจัดการศึกษาเพียงลำพัง ความล้มเหลวของการสร้างคนก็จะมาเยือน เพราะกลไกที่ขับเคลื่อนการศึกษาของภาครัฐ   มิได้มุ่งที่ประโยชน์ของผู้เรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่หากมุ่งประโยชน์ด้านความก้าวหน้า    ฐานะทางสังคม  ฐานะทางการเงิน    จึงเป็นการลดทอนคุณภาพและคุณค่าของการศึกษาให้ด้อยลงไป  และนับวันการศึกษาจะลงลึกสู่ความล้มเหลว ที่คาดหวังไม่ได้เลยว่าประชากรในอนาคตเราจะสามารถพึ่งพาเขาเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น