พานิชพล มงคลเจริญ

วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555

โรงเรียนพระราชทาน กำปงเฌอเตียลสายใยไทย-กัมพูชา

ไทยและกัมพูชา มีพื้นที่ของทั้งสองประเทศติดต่อกัน แต่ก็มีพื้นที่บางส่วนที่เคยเป็นของไทยแต่ต้องตกไปเป็นของกัมพูชา โดยนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส กอปรกับประวัติศาสตร์ได้บันทึกถึงความหมางใจกันระหว่างประเทศทั้งสอง ทำให้ประชากรของทั้ง 2 ประเทศ เมื่อได้เรียนรู้หรือรับรู้ประวัติศาสตร์ก็ย่อมมีความไม่พอใจ   ซึ่่งกันและกัน ทำให้มีการกระทบกระทั่งกันเสมอมา


อย่างไรก็ตาม ความบาดหมางแม้จะรุนแรงเพียงใด ก็มิอาจตัดขาดสายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ได้  เสมือนมีสายใยเล็กๆยึดโยงเอาไว้ มิให้สายสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศนี้ขาดจากกัน สิ่งที่เป็นสายใยนี้ ก็คือพระเมตตาแห่ง "สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี" ที่ทรงพระราชทาน "วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล" ให้กับประชาชนชาวกัมพูชา สืบเนื่องจากที่พระองค์ท่านเสด็จ  ณ  ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถานหลายครั้ง ปรากฏว่ามีประชาชนชาวกัมพูชา จำนวนมากมายมารับเสด็จทุกครั้ง พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริที่จะพระราชทาน "ของขวัญอันยั่งยืน"  เพื่อตอบแทนการต้อนรับอย่างอบอุ่น ด้วยน้ำใจไมตรีให้กับประชาชนชาวกัมพูชา  นั่นก็คือการให้การศึกษา


"วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล" จึงถือกำเนิดจากพระเมตตาของพระองค์ท่าน บนเนื้อที่ 45 ไร่ (ปัจจุบันขยายเป็น 117 ไร่)  ในอำเภอ "ปราสาทซ็อมโบร์" จังหวัด "กำปงธม" ซึ่งอยู่กลางใจประเทศ อยู่ใกล้กับโบราณสถาน "ไพรกุก" หรือ "ปราสาทซ็อมโบร์" ซึ่งมีการสร้างสมัย "พระเจ้าอิสานวรมัน" ในพุทธศตวรรษที่ 11  สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ค่อนข้างกันดาร กอปรกับเคยเป็นที่อยู่ของกองกำลัง "เขมรแดง" ในอดีต  โดยห่างจากจังหวัดกำปงธมประมาณ 35 กิโลเมตร ผู้ที่เคยมาเยือนมักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นสถานศึกษาที่สวยที่สุดในกัมพูชา


การก่อสร้างสถานศึกษาแห่งนี้ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้าง ณ สถานที่ที่ใกล้กับโบราณสถานเพื่อให้เยาวชนรักและหวงแหนสิ่งที่มีอยู่ และจากการสำรวจพบว่าประชาชนชาวกัมพูชามีผู้ไม่รู้หนังสือจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้เยาวชนจำนวนมากไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์   ทำให้สถานศึกษาแห่งนี้จึงเป็นเสมือนแสงสว่างแห่งความหวังของชีวิตใหม่


"วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล" มีการจัดการศึกษา  สายสามัญในระดับมัธยมศึกษา  และสายอาชีพ   ในระดับปวช.  โดยสายสามัญจะรับนักเรียนตั้งแต่เกรด 7-12 (ม.1-ม.6) และสายอาชีพจะรับจากนักเรียนเกรด 9 (ม.3) เข้าเรียนต่ออีก 3 ปี ใน 4 วิชาชีพคือ  วิชาชีพช่างไฟฟ้า  วิชาชีพช่างอิเล็กทรอนิกส์  วิชาชีพกสิกรรม  และวิชาชีพปศุสัตว์  โดยในระยะแรกคณะครุศาสตร์จุฬารับผิดชอบสายสามัญ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษารับผิดชอบสายอาชีพ โดยความควบคุมของกรมราชองครักษ์


สิ่งสำคัญยิ่งนอกจากอาคารและการจัดหาอุปกรณ์/สื่อการเรียนการสอนนั้นก็คือ การพัฒนาบุคลากร ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด  ที่จะทำให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ  โดยได้มีการวางแผนพัฒนาบุคลากรทั้งระยะสั้นและระยะยาว  ซึ่งในระยะสั้นนั้นได้นำครูวิชาชีพไปฝึกทักษะวิชาชีพเป็นระยะๆ ระยะเวลาละประมาณ 1 เดือน ณ วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ สำหรับการพัฒนาบุคลากรในระยะยาวนั้น ครูจะได้รับทุนพระราชทานให้ศึกษาต่อในระดับป.ตรี และ ป.โท ส่วนนักเรียนสายสามัญจะได้รับทุนพระราชทานเข้าศึกษาในระดับ ป.ตรี  ส่วนนักเรียนในสายอาชีพจะได้รับทุนพระราชทานในระดับ ปวส. ตามสาขาวิชาชีพที่สำเร็จ ซึ่งทุนในระดับป.ตรี และป.โททั้งครูและนักเรียนจะเข้าศึกษาในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐในประเทศไทย แต่สำหรับสายอาชีพจะเข้าศึกษาในสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษ


การคัดเลือกผู้ที่จะได้รับทุนพระราชทาน โดยผู้ประสงค์จะเข้ารับทุนจะต้องสามารถเขียน อ่าน และสื่อสารภาษาไทยได้ดี  ทำให้ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับทุนพระราชทานทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพสำเร็จการศึกษามาเป็นจำนวนมาก และสามารถเขียน อ่าน สื่อสารภาษาไทยได้ทุกคน ซึ่งปัจจุบันเขาเหล่านั้นได้มาบรรจุเป็นครู และมุ่งมั่นที่จะให้ความรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีพ แก่รุ่นน้องรุ่นลูกรุ่นหลาน ให้มีชีวิตที่ก้าวหน้าหลุดพ้นจากความยากจน สรรสร้างความเจริญให้กับแผ่นดินเกิด


ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาจาก "วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล" เป็นจำนวนมาก เขาเหล่านั้นต่างก็แยกย้ายไปช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว ด้วยผลจากความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ ความขยัน ตั้งใจ และความต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้หน่วยงานหรือสถานประกอบการที่รับผลผลิตจากสถานศึกษาแห่งนี้ ต่างให้การยอมรับในคุณภาพ


ความยึดมั่นในจารีต และความมีวินัย ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มคุณค่าของความเป็นคน  ซึ่งจะพบเห็นได้จากสถานศึกษาแห่งนี้  เช่นการลงจูงจักรยานเมื่อเข้าเขตโรงเรียน โดยไม่ต้องมีครูยืนดูอยู่หน้าประตู  หรือการเรียนในห้องเรียนขณะที่ครูกำลังสอน นักเรียนทุกคนจะนิ่งเงียบและตั้งอกตั้งใจฟังคำสอนของครูตลอดชั่วโมงการเรียน   นอกจากนั้นการรับหรือส่งสิ่งของใดๆให้กับทุกคน  นักเรียนจะส่งสิ่งของด้วย 2 มือเสมอ  พบผู้ใหญ่จะไหว้ทักทาย  และกรณีที่มีนักเรียนหญิงและนักเรียนชายคุยกัน เมื่อเห็นว่ามีผู้ใหญ่ผ่านมาพบเห็น  ทั้งคู่จะเดินแยกจากกันทันที


หากไม่มี "โรงเรียนพระราชทานกำปงเฌอเตียล" ณ วันนี้ สายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอาจขาดลง และเยาวชนจำนวนมากก็คงไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา คงมีแต่ความสิ้นหวัง มีแต่ความลำบาก ยากจน    พระเมตตาแห่ง     "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี"    แผ่ไปทั่วมิได้เฉพาะพสกนิกรชาวไทยเท่านั้น  แต่พระเมตตานี้จะแผ่ไปถึงมวลมนุษยชาติ โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ดั่งที่ทรงรับสั่งไว้ว่า "ความต้องการของข้าพเจ้าคือต้องการมีส่วนร่วมในการให้การศึกษาเยาวชนกัมพูชา ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีศักยภาพเป็นอย่างดี และถ้าได้ศึกษาเล่าเรียนและฝึกอบรมที่ดีแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคมกัมพูชา และสังคมโลกสืบไป"



วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

Boss มากมาย Leader น้อยนิด

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  ย่อมต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  เพื่อพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือกัน และเพื่อให้กลุ่มมีพัฒนาการที่ดี  จึงต้องมีผู้ชี้นำกลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นหัวหน้าเผ่าในการปกครองแบบโบราณ    และรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่จนเป็นประเทศ ที่มีกษัตริย์หรือจักรพรรดิหรือชื่ออื่นๆเป็นผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งสิ่งสำคัญในการปกครองก็คือการให้ผู้อยู่ใต้ปกครองอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพียบพร้อมด้วยปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค


ปัจจุบันมีหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน มากมาย  ที่มีแต่ "Boss" หรือหัวหน้า หรือผู้ที่เป็น "ผู้สั่ง"ที่มิได้นำคุณธรรมมาใช้ในการปกครอง  ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทำให้ไม่สามารถนำพาองค์กรให้มีความเจริญก้าวหน้าได้   แต่สำหรับผู้ใช้ที่คุณธรรมในการปกครองเราเรียกว่า "Leader" หรือ "ผู้นำ"  


ผู้ที่มีคุณสมบัติการเป็น "ผู้นำ" เราจะเห็นได้จากการที่เขามักแสดงพฤติกรรมในเชิงบวก เช่น

  • ฝึกให้คนทำงานแทนการบังคับให้ทำงาน   
  • ใช้ไมตรีแทนการใช้อำนาจ
  • สร้างความศรัทราแทนการสร้างความกลัว
  • ช่วยแก้ปัญหาแทนการตำหนิ


การที่จะให้ผู้อยู่ใต้ปกครองอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข   และร่วมกันพัฒนาองค์กรให้เจริญรุ่งเรืองได้นั้น   ผู้ปกครองที่ดี หรือผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำนั้นจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรม  ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงมอบหลัก "ทศพิธราชธรรม" ให้ "กษัตริย์"ผู้ปกครองประเทศในสมัยพุทธกาลให้ใช้เป็นคุณธรรมประจำตน



หลักแห่ง "ทศพิธราชธรรม" นี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะกับ "กษัตริย์" เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้กับผู้ที่อยู่ในสถานะที่ต้องปกครองผู้คนไม่ว่าในระดับใด ซึ่งหลัก "ทศพิธราชธรรม"  ประกอบด้วยหลักการปฏิบัติตน 10 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1  คือ "ทาน" หมายถึง "การให้" ที่ไม่เลือกกลุ่มเลือกคน ทั้งนี้เพื่อก่อให้ความสงบสุข
             
ประการที่ 2  คือ "ศีล"  หมายถึง "ความประพฤติสิ่งที่ดีงาม" ซึ่งก็คือการรักษาศีล ละเว้นในสิ่งที่ ไม่เหมาะไม่ควร                             

ประการที่ 3  คือ "ปริจจาคะ" หมายถึง "การเสียสละ" เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม

ประการที่ 4  คือ "อาชชวะ"  หมายถึง "ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจ" ไม่ทุจริตและดูแลไม่ให้เกิดการทุจริตได้
                                 
ประการที่ 5  คือ "มัททวะ" หมายถึง "ความสุภาพอ่อนโยน" น้อมน้อมกับผู้ใหญ่  ถ่อมตนกับผู้น้อย ไม่เลือกคนไม่เลือกกลุ่ม
                                 
ประการที่ 6  คือ "ตะปะ" หมายถึง "ความเพียร" ขยันตั้งใจปฏิบัติงานอย่างไม่เบื่อหน่าย              

ประการที่ 7  คือ "อักโกธะ" หมายถึง "ความไม่โกรธ" มีอารมณ์สุขุมเยือกเย็น มีเมตตา

ประการที่ 8  คือ "อวิหิงสา" หมายถึง "การไม่เบียดเบียน" ไม่รบกวนจนผู้น้อยต้องเดือดร้อน

ประการที่ 9  คือ "ขันติ" หมายถึง "ความอดทน" ไม่หมดกำลังใจและไม่ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่

ประการที่10 คือ "อวิโรธนะ" หมายถึง "ความยุติธรรม" กับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน

หลัก "ทศพิธราชธรรม" ทั้ง 10 ประการนี้  เป็นหลักการปกครองที่ดีเลิศ แต่นับวันเราจะหาผู้ที่ใช้คุณธรรมในการปกครองยากขึ้นทุกที   ทำให้สมาชิกในองค์กร ไม่มีความรักในองค์กร  ไม่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ อยู่แบบตัวใครตัวมัน  มีความเห็นแก่ตัวสูง ในที่สุดองค์กรนั้นก็คงต้องล่มสลาย นี่ก็เป็นเหตุแห่งการที่ผู้ปกครองในองค์กร หรือหน่วยงานทุกระดับส่วนใหญ่ไม่มีคุณธรรม  ไม่ยึดหลักแห่ง "ทศพิธราชธรรม"  เพราะสังคมปัจจุบันมีแต่ "Boss" แต่ขาด "Leader"