พานิชพล มงคลเจริญ

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การจัดเส้นทางอาชีวศึกษาเพื่อเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียน

ต้องยอมรับกันว่ากำลังคนที่เป็นรากฐานของประเทศ  ก็คือผู้ที่ทำงานด้วยแรงกาย แรงใจ และการใช้ทักษะฝีมือ ในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่นอุตสาหกรรม เกษตรกรรม  พาณิชยกรรม ศิลปกรรม คหกรรม ตลอดจนงานบริการด้านต่างๆ  แต่ผู้ที่สามารถนำวิชาความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้นั้น เขาเหล่านั้นจะต้องผ่านการศึกษา และการฝึกฝน  จากผู้ที่มีความรู้และทักษะอยู่ในระดับขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับมาตรฐาน  จนกระทั้งถึงระดับที่ผู้คนในวงการวิชาีชีพให้การยอมรับ
จากอดีตที่ผ่านมาผู้มีวิชาชีพติดตัว เพื่อใช้ในการทำมาหากินได้นั้น  ผู้ที่ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนวิชาความรู้วิชาสามัญในชั้นสูงๆมากนัก ส่วนใหญ่ก็จบเพียงชั้นประถมศึกษา อย่างมากก็เพียงมัธยมตอนต้น  แต่เหตุที่มีวิชาชีพติดตัวเพื่อใช้ทำมาหากินได้นั้น  มักได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น  หรือการเรียนรู้งานจากการเป็นลูกมือ หรือลูกจ้างผู้ประกอบการ หรือในลักษณะครูพักลักจำ  แล้วสั่งสมประสบการณ์ จากการใช้เวลาฝึกฝน จนมีความรู้ ทักษะ และความชำนาญ อยู่ในระดับที่สามารถดำเนินกิจการเองได้  ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้ก็คือลักษณะการเรียนรู้ตามอัธยาศัยด้านวิชาชีพนั่นเอง

สำหรับการศึกษานอกระบบโรงเรียนด้านอาชีวศึกษา  ก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่่งที่สามารถก้าวเข้าสู่การมีอาชีพอย่างง่ายๆ   ด้วยการเข้ารับการฝึกอบรมในสาขาวิชาชีพที่ต้องการ  ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาและสถาบันการศึกษามากมายที่ให้บริการฝึกอบรม สำหรับลักษณะการจัดหลักสูตรจะใช้เวลาสั้นๆ เรียนรู้เพียงสาระย่อยๆเพียงสาระเดียวในแต่ละสาขาวิชา   ซึ่งสามารถแยกและแตกแขนงได้มากมาย เช่นการเรียนสาขาวิชาอาหาร-ขนม ก็จะแยกเป็นอาหารไทย และอาหารนานาชาติ  จากอาหารไทยก็แยกเป็นแกงเผ็ด  จากแกงเผ็ดก็แยกเป็นแกงเผ็ดเป็ดย่าง เป็นต้น การจัดหลักสูตรการสอนวิชาชีพระยะสั้นจะเป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน  และผู้เรียนก็จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพได้ทันที  ดังคำกล่าวของ "ศ.ด.ร. แนม บูญสิทธิ์"  ผู้ก่อกำเนิดการศึกษาวิช่าชีพระยะสั้นในไทย ได้เคยกล่าวไว้ว่า "การสอนวิชาชีพระยะสั้นมิใช่เป็นการสอนแต่เป็นการเสกความรู้ให้อยู่ในตัวศิษย์ "


สำหรับการศึกษาในระบบโรงเรียนด้านอาชีวศึกษา   ก็เป็นอีกเส้นทางหนี่งที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ถึงระดับปริญญาในสายวิชาชีพ  ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เป็นหลักในการจัดการศึกษาวิชาชีพสำหรับระบบนี้ก็คือสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานอื่นๆที่มีการจัดการศึกษาในลักษณะนี้ เช่นการรถไฟแห่งประเทศไทย  และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น  นอกจากนั้นสถานประกอบการหลายแห่งก็หันมาจัดการศึกษาด้านนี้     เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตนเอง เช่น เซเว่น - อีเลฟเว่น  เป็นต้น โดยมีการจัดหลักสูตร 3 ระดับ คือ ปวช. , ปวส. และ ป.ตรี สายปฏิบัติการ
1. ปวช. ผลิตเพื่อให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพระดับฝีมือ
2. ปวส. ผลิตเพื่อให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพระดับเทคนิค
3. ป.ตรี สายปฏิบัติการ    ผลิตเพื่อให้เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพระดับ ป.ตรี  สายปฏิบัติการ      หรือหากเป็นวิชาชีพทางช่างก็จะเป็นวิศวกรด้านปฏิบัติ (Practical Engineer)  "Practical" หมายถึงทำได้จริง ไม่ใช่รู้แต่ทฤษฎี

เป็นที่ทราบกันว่าผู้ที่เลือกเรียนสายอาชีวศึกษา  จัดเป็นผู้ที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับต่ำ  แต่ถ้าหากเป็นผู้เรียนที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับดี ก็มักจะสอบเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมปลายในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือนักเรียนที่อยู่ในระดับปานกลางสถานศึกษาต้นน้ำก็จะดึงให้เรียนต่อในชั้นม.ปลายของโรงเรียน เพื่อผลงาน ตัวเลข และค่าหัว ดังนั้นผู้ที่สำเร็จการศึกษาม.ต้น ที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับต่ำ หรือที่มีนิสัยเกเร  จึงถูกโรงเรียนต้นน้ำเหล่านี้คัดออก และให้มาศึกษาในสถานศึกษาของอาชีวศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชน  จึงทำให้ผู้เข้ามาศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นผู้มีผลการเรียนในระดับต่ำ ซึ่งตามความเป็นจริงผู้ที่เข้ามาศึกษาต่อด้านอาชีวศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนโรงเรียนเตรียมวิศวกร ควรเป็นผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับดี จึงจะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณภาพเพียงพอที่จะไปแข่งขันกับเพื่อนๆในประชาคมอาเซึยนได้


จากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นนักเรียนทุนพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี  ที่ทรงพระเมตตาพระราชทานทุนให้กับนักเรียนที่สำเร็จชั้นม.ต้น (เกรด 9) ที่มีผลการเรียนดี และสื่อสารภาษาไทยได้ ของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ราชอาณาจักรกัมพูชา เข้าศึกษาต่อในระดับ ปวช. ของวิทยาลัยเทคนิค และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ในสาขาวิชาช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์  พืชศาสตร์ และสัตวศาสตร์ สาขาละ 4 ราย รวม 16 ราย  ผลการเรียนผู้ที่ได้รับทุนฯทั้งหมดที่สำเร็จการศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3.5 บางคนได้ถึง 4 แม้แต่วิชาภาษาไทย ก็ยังได้ระดับ 4 นักเรียนไทยเองยังได้เกรดน้อยกว่า  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ครูไทยได้เดินทางไปที่วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล เพื่อสอนวิชาชีพ แต่ท่านสื่อสารภาษาขะแมร์ไม่ได้  จึงให้นักเรียนทุนฯซึ่งเรียนอยู่ชั้นปวช. 1 เป็นล่ามให้ ปรากฏว่าเมื่อนักเรียนได้เป็นล่ามให้ครูเพียง 1-2 รอบ นักเรียนก็บอกกับครูว่าจะขอลองสอนเองบ้าง ซึ่งนักเรียนคนนั้นก็สามารถสอนได้และสอนได้ในระดับดี สร้างความแปลกใจให้กับผู้พบเห็นหลายคน


ตามจริงการอาชีวศึกษาเป็นการศึกษาที่เหมาะกับผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทุกระดับ  ทั้งระดับต่ำ  ระดับปานกลาง  และระดับสูง ดังนั้นสิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาควรดำเนินการ   ก็คือ การจัดสร้างเส้นทางความก้าวหน้า (Career Path) ทางการศึกษาสู่ความก้าวหน้าทางอาชีพ  โดยแบ่งความก้าวหน้าตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับม.ต้น (ม.3) เป็น 3 ระดับ คือระดับต่ำได้เกรด 1 ไม่ถึง 2  ระดับปานกลาง ได้เกรด 2 ไม่ถึง 3 และระดับสูง ได้เกรด 3 ขึ้นไป  โดยควรมีการแบ่งเส้นทางความก้าวหน้าในแต่ละระดับดังนี้

ผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ ให้เรียนหลักสูตร ปวช. เมื่อสำเร็จแล้ว ให้ทำงาน 1 ปี จากนั้นให้เข้าศึกษาต่อ ในระดับปวส. แล้วให้ทำงานอีก 2 ปี จึงให้ศึกษาต่อในระดับ ป.ตรี
 
ผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับปานกลาง  ให้เรียนหลักสูตร ปวช. และต่อระดับ ปวส.เมื่อสำเร็จปวช.  แล้วให้ทำงาน 1 ปี จึงให้ศึกษาต่อในระดับ ป.ตรี

ผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับสูง ให้เรียนหลักสูตร ปวช. และต่อระดับ ปวส. จากนั้นให้ต่อในระดับ ป.ตรี เมื่อจบปวส.

หากมีการจัดการได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประเทศเราก็คงไม่ขาดแคลนวิชาชีพที่มีฝีมือ ผู้ที่ศึกษาด้านอาชีวศึกษาก็สามารถทำงานเพื่อหาประสบการณ์ และเรียนเพื่อความก้าวหน้าของตนเอง เมื่อทำงานสลับกับการเรียนก็จะทำให้ผู้นั้นมีความเป็นผู้ใหญ่ รู้จักหน้าที่ และมีความรับผิดชอบ  ที่สำคัญภาครัฐจะต้องสนับสนุนและให้แรงจูงใจ เช่นค่าจ้างก็ควรจะต้องกำหนดให้สูง เช่นจบปวส. อาจกำหนดค่าจ้างให้เท่ากับ ป.ตรี  ที่สำเร็จป. ตรีสายสังคมศึกษา เป็นต้น


หากเราจูงใจให้นักเรียนที่มีผลการเรียนดีมาเรียนด้านอาชีวศึกษา  และจัดเส้นทางความก้าวหน้าทางการศึกษา และการประกอบอาชีพ  ตลอดจนการส่งเสริมให้ค่าจ้างอยู่ในระดับสูง ผู้คนหลากหลายก็จะหันมาเรียนอาชีวศึกษาเพื่อช่วยกันสร้างชาติ เช่นประเทศเยอรมันนี หรือออสเตรเลีย ที่ประชากรของเขาให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษาในระดับต้นๆ เพราะเขาถือว่าการสร้างชาติหรือการที่จะให้ประเทศพัฒนาไปได้  ต้องอาศับผู้ที่ทำงานด้วยแรงกาย แรงใจ ทักษะฝีมือและประสบการณ์  หากทำได้เช่นอารยะประเทศ    บ้านเราก็คงมีผู้คนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแข่งขัน และเป็นผู้นำในวิชาชีพสาขาต่างๆในกลุ่มอาเซียน   แต่หากให้สถานการณ์ของผู้ที่เข้ามาเรียนด้านอาชีวศึกษาเป็นอยู่ในสภาพเช่นนี้  ในอนาคตเราก็คงมีประชากรที่ต้องจ้างแรงงานต่างชาติเพื่อใช้บริการ  หรืออาจเป็นลูกจ้างประชากรของเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน  หากสถานการณ์เป็นเช่นดังกล่าว  เราจะทนได้หรือ............



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น