หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “แยกเมรุปูน” ซึ่งแยกนี้เป็นแยกที่ตัดกับถนนบำรุงเมืองที่มาจากเสาชิงช้า ผ่านแยกสำราญราษฎร์ หรือที่เรียกกันว่า “ประตูผี” แล้วจึงผ่านแยก “เมรุปูน” ทอดยาวสู่แยกแม้นศรี แต่เดิมนั้นยังไม่มีถนนบำรุงเมือง ดังนั้นถนนบำรุงเมืองและบริเวณพื้นที่ทั้ง 2 ฟากฝั่งนี้ จึงเป็นพื้นที่ผืนเดียวกันกับวัดสระเกศฯ สำหรับจุดที่เป็นที่ตั้งของ “เมรุปูนวัดสระเกศ” ก็อยู่ภายในบริเวณวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครในปัจจุบันนั่นเอง
ป้ายอธิบายความเป็นมา ณ แยกเมรุปูน |
“เมรุปูนวัดสระเกศ” เป็นเมรุที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นนายช่างสร้างเมรุด้วยการก่ออิฐถือปูน ซึ่ง “เมรุปูนวัดสระเกศ” นี้ ถือได้ว่าเป็นเมรุเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เช่นเดียวกับเมรุราชอิศริยาภรณ์ ที่ตั้งอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาสปัจจุบัน
“ เมรุปูนวัดสระเกศ ” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นนี้ เพื่อใช้สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย และศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มีการก่อสร้างอย่างปราณีตสมบูรณ์ยิ่งกว่าเมรุปูนของวัดอรุณราชวราราม และวัดสุวรรณาราม ที่ได้สร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว “ เมรุปูนวัดสระเกศ ” มีสิ่งก่อสร้างบริเวณรอบเมรุ เช่น พลับพลา โรงธรรม โรงครัว โรงมหรสพ ตลอดจนพุ่มกัลปพฤกษ์ และระทา (หอสี่เหลี่ยมทรงยอดเกี้ยว ใช้สำหรับจุดดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ในพิธี) ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนทำด้วยการก่ออิฐถือปูนทั้งสิ้น
ลักษณะของระทาดอกไม้ |
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนบำรุงเมือง โดยการตัดผ่านของถนนเส้นนี้ ทำให้กุฎีวัดสระเกศกับบริเวณ “เมรุปูน” แยกออกจากกันคนละฝั่งถนน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการแก้ไขบริเวณเมรุปูนนี้ให้เหมาะสมกับถนนที่ตัดขึ้นใหม่
ถนนบำรุงเมืองในอดีตบนถนนมีทางรถราง และจะมองเห็นเสาชิงช้าอยู่สุดถนน |
ด้านหน้าวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร |
หากท่านได้มีโอกาสเข้าไปในวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร ท่านจะเห็นองค์พระวิษณุกรรมเทพแห่งการช่างพระวรกายสีทองยืนเด่นเป็นสง่าอยู่ข้างหน้า จุดนี้คือจุดที่ตั้งของ “เมรุปูน” ในสมัยนั้น และหลักฐานชิ้นสุดท้ายของ “เมรุปูน” ที่คนรุ่นเราได้พบเห็นก็เพียงชิ้นส่วนที่เป็นเพียงบันไดของเมรุ ขณะที่มีการซ่อมพื้นแผนกวิชาช่างยนต์ ทำให้ได้ขุดพบบันไดเมรุที่ทำด้วยปูนอยู่ลึกลงไปใต้ดิน โดยเชิงบันไดทอดยาวไปทางด้านทิศตะวันออก เหตุนี้เององค์พระวิษณุกรรมที่สถิตอยู่ ณ จุดที่เคยเป็นที่ตั้งของ “เมรุปูน” จึงบังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก หลายคนได้พบได้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของท่านมากมาย ชุมชนและชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา ให้ความเคารพเป็นอย่างยิ่ง
บันไดเมรุที่อยู่ด้านไหนนะหรืออยู่ในตึก
ตอบลบ