พานิชพล มงคลเจริญ

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ประกาศนียบัตรช่างฝีมือ ระดับการศึกษาที่ถูกลืม

ในตลาดแรงงานมีผู้ที่ใช้วิชาชีพช่างสาขาต่างๆเลี้ยงชีพ โดยเริ่มตั้งแต่ช่างไร้ฝีมือ ช่างกึ่งฝีมือ ช่างฝีมือ ช่างเทคนิค และวิศวกร โดยบุคคลกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวทันกับการแข่งขันทั้งสังคมภูมิภาค และสังคมโลก โดยมีสถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ บางแห่งช่วยกันผลิตออกมารับใช้สังคม


ในอดีตได้มีการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ในหลักสูตรประกาศนียบัตร์ช่างฝีมือ (ปชม.) โดยรับผู้สำเร็จการศึกษาตอนต้น สอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษา โดยใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปี มีสาขาวิชาให้เลือกหลากหลาย เนื่้้อหาวิชาเน้นภาคปฏิบัติการ โดยการนำภาคปฏิบัติการทั้งหมดของวิชาชีพนั้นๆมาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น สาขาวิชาช่างไฟฟ้า ก็มีการฝึกการเดินสายภายใน/ภายนอกอาคาร การฝึกติดตั้งระบบไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม การพันหม้อแปลงไฟฟ้า การพันมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งเฟสเดียวและ 3 เฟส ตลอดจนการฝึกติดตั้งระบบควบคุมเครื่องจักรกลในโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับทฤษฏีก็เรียนรู้เพียงทฤษฏีหัวงาน (ทฤษฏีที่ใช้เพื่อการปฏิบัติ) ส่วนวิชาที่นอกเหนือจากวิชาชีพ ก็มีเพียงวิชาการประกอบธุรกิจเพียงวิชาเดียว การจัดตารางเรียนก็เป็นแบบจัดให้เรียนจบเป็นวิชาๆไป (ฺBlock release) ผู้เรียนได้มีเวลาและมีโอกาสฝึกทักษะอย่างเต็มที่ และที่สำคัญคือมีการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง วันละ 6 ชั่วโมง


ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่ ออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว และทำงานในสถานประกอบการ หลายคนได้เป็นช่างใหญ่ ผู้ที่จบวิศวกรยังต้องขอคำปรึกษา ความสำเร็จในการปฏิบัติงานและการยอมรับในความสามารถจากผู้ประกอบการ ย่อมแสดงให้เห็นถึงผลดีและประโยชน์ของการจัดการศึกษาในหลักสูตรนี้ นอกจากนั้นในสมัยต่อมายังได้มีการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรช่างฝีมือ ให้มีการเรียนเป็น 3 ระดับ คือปชม.1 ปชม.2 และปชม.3 โดยแต่ละระดับใช้เวลาเรียน 1 ปี ซึ่งแต่ละระดับเป็นหลักสูตรที่ขาดจากกัน เรียนจบเป็นปีๆไป แต่มีความเข้มของเนื้อหาวิชาที่ใช้ทักษะที่สูงขึ้นตามระดับชั้น


หลักสูตร ปชม. เป็นหลักสูตรที่เอื้อต่อการผลิตกำลังคนระดับฝีมือ ที่สามารถพัฒนาให้เป็นกำลังคนในระดับเทคนิคได้ เป็นการผลิตกำลังคนที่สามารถตอบโจทย์ ผู้เรียนที่ไม่ถนัดด้านวิชาการ แต่มีความถนัดในการใช้ทักษะฝีมือในการทำงาน สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนในระดับนี้ได้อย่างดียิ่ง และที่สำคัญผู้เรียนไม่ต้องเสียเวลามากมายในการศึกษา ซึ่งหากเป็นหลักสูตร ปวช. ก็ต้องใช้เวลาเรียนถึง 3 ปี บางคนออกก่อน 3 ปี ก็ไม่ได้อะไรเลย ปีหนึ่งๆมีนักเรียนระดับ ปวช. ถูกออกกลางคันมากมาย และที่น่าสนใจคือสาเหตุจาการออกเพราะระดับคะแนนไม่ถึง และเมื่อดูให้ลึกลงไปอีกก็ทราบว่าส่วนใหญ่ถูกออกเพราะคะแนน ในวิชาสามัญเป็นต้นเหตุ แสดงว่าการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาวิชาชีพในปัจจุบัน ให้ความสำคัญวิชาสามัญมากกว่าวิชาชีพ นักเรียนที่มุ่งเข็มเรียนด้านวิชาชีพ ก็เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงวิชาสามัญที่เข้มข้น แต่เหมือนหนีเสือปะจระเข้ บางทีหนักกว่าเรียนในโรงเรียนขั้นพื้นฐานอีก


น่าเสียดายที่หลักสูตรดีๆอย่างนี้ มีการจัดดำเนินการเพียง 5 รุ่น เท่านั้น ขณะที่หลักสูตร ปชม.1 ปชม.2 และปชม.3 ยังไม่ทันได้ไช้ หลักสูตร ปชม. ก็ถูกยกเลิก ในขณะที่ผู้เรียน สถานประกอบการต่างๆยังต้องการให้เปิด แต่นโยบายเหนือเหตุผล มีการสั่งให้หยุดผลิตหลักสูตรนี้ และให้หันไปผลิตหลักสูตร ปวช. แต่เพียงอย่างเดียว สังคมอาจจะต้องกลับมาทบทวนสิ่งดีๆที่หายหกตกหล่นไป และนำมาปัดฝุ่นใหม่อาจทำให้สถานการณ์การขาดกำลังคนระดับช่างฝีมือดีขึ้นก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น