พานิชพล มงคลเจริญ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเติมเต็มด้วยการศึกษานอกระบบ

มนุษย์มีการรับรู้และเรียนรู้อยู่ตราบที่ยังมีชีวิตอยู่ การอยู่ในบ้านดู TV. การมาทำงาน การเดินดูของหรือผลิตภัณฑ์ในร้านค้า และสิ่งต่างๆอีกมากมายที่เราได้พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สิ่งที่ได้พบเห็นได้สัมผ้ส ด้วยอวัยวะรับรู้ทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) นี้ ก็คือความรู้ที่เราได้รู้อย่างไม่รู้ตัวนั่นเอง



นอกจากนั้นการที่เราเข้ารับการอบรม การศึกษาดูงาน การฝึกเป็นช่างตามร้านซ่อม การเรียนรู้ด้วยตนเอง

จากสื่อต่างๆ หรือการที่เราได้เรียนรู้จากทุกสิ่ง ล้วนเป็นการศึกษาที่ไม่อยู่ในระบบโรงเรียน ซึ่งนักการศึกษาได้แบ่งระบบการศึกษาออกเป็น 3 ระบบ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non - Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education)



ในสมัยที่ยังมีการใช้การศึกษาภาคบังคับเพียงแค่ชั้นประถมศึกษา การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ประชาชนจะให้ความสนใจสูงมาก เพราะสิ่งนี้เป็นหนทางที่ก้าวสู่การมีอาชีพในอนาคต โดยใช้เวลาไม่มากในการเรียนรู้ แต่อาจจะต้องไปหาประสบการณ์จนเกิดความชำนาญ



เริ่มแรกการศึกษานอกระบบ ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองการศึกษา กรมอาชีวศึกษา ได้รวบรวบผู้ที่มีความรู้ทางวิชาชีพในสาขาต่างๆ เพื่อเดินทางไปฝึกอาชีพ โดยเริ่มที่จังหวัดชุมพร ประชาชนที่ทราบข่าวได้ให้ความสนใจและเดินทางมาฝึกอาชีพจำนวนมากจนเกินคาด อาชีพที่มีผุ้คนนิยมเรียนและให้ความสนใจมาก คือ การถัดเน็คไท และการทำตรายาง ผลจากการตอบรับนี้เอง จึงเท่ากับเป็นการจุดประกายการศึกษาที่ไม่ใช่การเรียนในโรงเรียน และการสอนในวิชาชีพสั้นๆนี้ก็ได้รับการกล่าวขาน และเป็นที่นิยมของประชาชนเพิ่มขึ้นมาโดยลำดับ สาเหตุเพราะการเรียนในลักษณะนี้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาอันสั้น สามารถนำไปประกอบอาชีพได้



ต่อมากรมอาชีวศึกษาเห็นว่าการฝึกอาชีพระยะสั้นในลักษณะนี้ได้ผลดี จึงจัดตั้งหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ ด้วยคำแนะนำของ ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ โดยให้มีการจัดรถนำอุปกรณ์ ครูผู้สอน และมีครูใหญ่ประจำหน่วยเคลื่อนที่ 1 คน เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการแก้ปัญหา และเป็นผู้สอนด้วย รถ 1 คัน จะมีผู้ร่วมเดินทางประมาณ 3 - 5 คน เดินทางไปทำการสอนวิชาชีพให้กับประชาชนในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศ สำหรับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสอน ตลอดจนพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง ก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรของสหประชาชาติ โดยมีศูนย์กลางแจกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ ณ โรงเรียนสารพัดช่างพระนคร (อยู่บริเวณวัดสระเกศ) โดยรถเคลื่อนที่ทุกคันเมื่อเสร็จภารกิจจะต้องกลับมาที่ศูนย์ฯ เพื่อรายงานผล รับแนวทางการทำงาน และรับเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อออกเดินทางไปฝึกอาชีพตามพื้นที่เป้าหมาย



ปัจจุบันการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้น ไม่ได้มีการเคลื่อนที่เหมือนแต่ก่อน แต่ได้ตั้งเป็นสถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษา ให้บริการสอนวิชาชีพระยะสั้นๆที่มีความหลากหลายกว่าสมัยก่อนมาก หน่วยงานที่มาจัดก็มีมากมาย เช่นวิทยาลัยสารพัดช่าง สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สถานศึกษาจากสำนักงานการศึกษานอกระบบโรงเรียน และสถานศึกษาของเอกชน เป็นต้น



แนวโน้วผู้สนใจเข้าเรียนในปัจจุบัน มีหลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น ต้องการมีอาชีพ ต้องการเปลี่ยนอาชีพ ต้องการมีอาชีพที่สอง ต้องการมีอาชีพสำรอง ต้องการต่อยอดหรือพัฒนาอาชีพเดิม ต้องการมีเพื่อน และเพื่อเป็นงานอดิเรก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามผู้เรียนที่มุ่งเข้ามาเรียนทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว หรือเป็นผู้เกษียณอายุ ผู้เรียนวัยรุ่นมีน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากการให้ความสำคัญและมีขยายโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษา และเมื่อเขาเหล่านั้นสำเร็จชั้นมัธยมต่างก็มุ่งหน้าเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ปัจจุบันทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะเรียนวิชาชีพระยะสั้นเหมือนแต่ก่อน ทำให้บ้านเราขาดช่างฝีมือระดับล่างและระดับกลาง ในอนาคตช่างฝีมือในระดับดังกล่าวคงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำอย่างแน่นอน



ทางแก้ไขผู้ปกครองควรสนับสนุนให้บุตรหลานได้เข้ามาเรียน วิชาชีพระยะสั้น เพื่อเติมเต็มความรู้ และให้มีจิตรักในอาชีพ นอกจากนั้นยังทำให้เด็กรู้ถึงความถนัดหรือความชอบของตน เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคต ค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิชาชีพระยะสั้นโดยเฉพาะวิทยาลัยสารพัดช่างถูกมาก เพียงชัั่วโมงละ 1 บาท ปกติหลักสูตรหนึ่งๆจะใช้เวลาเรียนเพียง 30 - 150 ชั่วโมง รายวิชาชีพมีให้เลือกเป็น 100 รายวิชา ผู้ปกครองอาจเรียนรายวิชาเดียวกัน หรือคนละรายวิชากับลูกหลานก็ได้ ควรเลือกเวลาเรียนช่วง17.00 - 20.00 น. โดยผู้ปกครองเดินทางออกมาจากที่ทำงาน ลูกหลานเดินทางออกมาจากโรงเรียนมาพบกันที่วิทยาลัยฯ เพื่อเรียนวิชาชีพ 20.00 น. กลับบ้านพร้อมกัน สร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว ทุกคนได้ความรู้ได้ประโยชน์ และเป็นการปูทางการประกอบอาชีพให้กับบุตรหลานของเราอีกด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น