พานิชพล มงคลเจริญ

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความประหยัดวิถีพุทธ

หลายๆคนเมื่อกล่าวถึงความประหยัด อาจนึกไม่ออกว่าแค่ไหนเพียงใดเรียกว่าประหยัด แต่หากใช้การปฏิบัติแนวพุทธเราก็จะได้คำตอบที่ชัดเจน จึงขอยกเรื่องราวในสมัยพุทธกาล เพื่อความเข้าใจ ดังนี้

ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุ สาวกของพระพุทธเจ้า ได้ออกบิณฑบาตร ไปในที่ต่างๆ ด้วยท่าทางอันสงบ น่าเลื่อมใสยิ่ง จนกษัตริย์ในเมืองนั้นได้เห็นลักษณะท่าทางอันสงบ จึงเกิดความศรัทธา และได้นิมนต์ให้ท่านมารับภัตราหาร และหลังจากการถวายภัตราหารแล้ว กษัตริย์องค์นั้นก็ถวายผ้าขาวให้ 1 พับ และมีการถามตอบกันระหว่างกษัตริย์กับพระภิกษุดังนี้

กษัตริย์.....ผ้าขาวที่ได้ถวายให้ท่านนี้ ท่านจะไปทำอะไร

พระภิกษุ.....ผ้าขาวที่เรารับมานี้ เราจะนำไปย้อมสี ด้วยรากไม้

กษัตริย์.....ผ้าขาวที่ได้ย้อมสีด้วยรากไม้แล้ว ท่านจะไปทำอะไร

พระภิกษุ.....ผ้าขาวที่เราย้อมสี ด้วยรากไม้แล้ว เราจะนำไปเย็บ เพื่อใช้เป็นสบง จีวร เพื่อใช้นุ่งห่ม

กษัตริย์.....สบง จีวร ที่ท่านนุ่งห่ม เมื่อขาด ท่านจะทำอย่างไร

พระภิกษุ.....สบง จีวรที่นุ่งห่มแล้วขาด เราจะนำไปเย็บชุนจนสามารถนำมานุ่งห่มได้อีก

กษัตริย์.....สบง จีวร ที่ท่านเย็บชุน แล้วนำมานุ่งห่มจนขาดมาก ไม่สามารถเย็บชุนจนเป็นผ้าผืนใหญ่ เพื่อใช้นุ่งห่มได้อีก ท่านจะทำอย่างไร

พระภิกษุ.....สบงจีวรที่เย็บชุนแล้วแต่ยังขาดอีกเราก็จะตัดแบ่งเพื่อใช้เป็นม่านบังตาหน้าต่างในกุฏิ

กษัตริย์.....ม่านบังตาที่หน้่าต่างในกุฏิของท่าน หากเปื่อยและไม่สามารถคงสภาพเป็นผืนผ้าได้ ท่านจะ ทำอย่างไร

พระภิกษุ.....ม่านบังตาที่หน้าต่างในกุฏิ หากไม่สามารถคงสภาพเป็นผืนผ้าได้ เราจะนำไปใช้เป็นผ้าถู พื้นในกุฏีของเรา

กษัตริย์.....หากผ้าที่ท่านใช้ถูพื้น มีสภาพเปือย ถูพื้นไม่ได้อีก ท่านจะทำอย่างไร

พระภิกษุ.....หากผ้าที่เราใช้ถูพื้น มีสภาพเปือนจนถูพื้นไม่ได้ เราจะนำผ้านั้นไป วางทางเข้ากุฏิของเรา เพื่อใช้ซับน้ำที่เท้า หลังจากการล้างเท้า

กษัตริย์.....หากผ้าที่ท่านใช้ซับน้ำจากเท้าเปือย จนไม่สามารถซับน้ำจากเท้าได้ ท่านจะทำอย่างไร

พระภิกษุ.....หากผ้าที่ใช้ซับน้ำจากเท้าเปือยมาก ใช้ซับน้ำที่เท้าไม่ได้แล้ว เราก็จะนำผ้านั้นไปผสมกับ ดิน เพื่อซ่อมแซมกุฏิของเรา (กุฏิในอินเดียสมัยพุทธกาลทำจากดิน)

เมื่อกษัตริย์องค์นั้นได้ฟังคำตอบ จึงเกิดความเลื่อมใส และศรัทธา ในแนวทางแห่งพุทธเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ถวายผ้าเพื่มอีกเป็น 100 พับ

จากเรื่องราวสมัยพุทธกาลที่ได้ถ่ายทอดและเล่าสู่กันฟังนี้ จะเห็นได้ว่า "ความประหยัด" ในแนวทางแห่งพุทธะ หมายถึงการใช้ทรัพยากรใดๆก็ตามให้มีคุณค่าสูงสุด หรือเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นให้มากที่สุด นั่นเอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น