พานิชพล มงคลเจริญ

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ

หากจะแบ่งระดับการศึกษาอย่างกว้างๆ ก็คงจะแบ่งออกได้เป็นการศึกษาระดับพื้นฐานและการศึกษาระดับวิชาชีพ ซึ่งการศึกษาในระดับพื้นฐาน หรือที่เรียกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ก็คือการศึกษาที่เรียนรู้วิชาที่เป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับวิชาชีพ นั่นก็หมายความว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานมิใช่การเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพ แต่เป็นการเรียนเพื่อรู้วิชาที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนในระดับวิชาชีพ


ปัจจุบันบ้านเรามีการแบ่งระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็น 6 - 3 - 3 รวมเป็น 12 ปี ซึ่งหากเรียนครบทั้ง 12 ปี ก็ยังไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ ผู้สำเร็จการศึกษาจึงต้องไปศึกษาต่อในระดับวิชาชีพ ซึ่งอาจจะเป็น ปวส. หรือป.ตรี จึงจะมีความรู้ในวิชาชีพสาขาต่างๆที่จะออกไปประกอบอาชีพได้


หากหันมาดูการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ซึ่งก็คือการศึกษาขั้นวิชาชีพ ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถนำวิชาชีพไปใช้ในการทำมาหากินได้ เช่นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช) ที่รับผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นม.3 และมีการกำหนดขั้นเงินเดือนให้ผู้สำเร็จการศึกษาอย่างชัดเจน โดยทางราชการ แต่นักการศึกษาบ้านเราก็เหมาเอาว่าการศึกษาในระดับนี้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคิดกันง่ายๆ เพียงนับเลข 1- 12 หากใช้เวลาเรียนอยู่ในห้วง 12 ปีก็ให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานไปก็แล้วกัน มันง่ายดี ไม่ต้องมีการวิเคราะห์อะไรให้มันยุ่งยาก


ผลเสียจากการตีความในลักษณะนี้ก็คือ ทิศทางการผลิตกำลังคนรวนเร ไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรดี ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือการศึกษาระดับปวช. ใครจะจัดก็ได้สอดแทรกสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานก็มาก โดยไม่สนใจว่าผู้ที่จบการศึกษาจะมีทักษะเพียงพอที่จะออกไปประกอบอาชีพได้หรือไม่


การจัดการเรียนการสอนด้านวิชาชีพใช่ว่าใครจะจัดก็จัดได้ หากต้องการให้กำลังคนที่เป็นเยาวชนของชาติ มีคุณภาพ ควรใช้มืออาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญ เครื่องมืออุปกรณ์ครบถ้วน บุคคลกรมีความรู้เฉพาะสาขา มิใช่จัดการศึกษาเพียงหวังตัวเลขค่าหัวนักเรียนให้มากๆไว้ก่อนเช่นทุกวันนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น