พานิชพล มงคลเจริญ

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาเพื่ออะไร เพื่อใคร

การจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนขั้นพื้นฐาน จะมีการแบ่งเป็นระดับ สำหรับระบบการศึกษาในบ้านเราปัจจุบัน จะใช้ระบบ 6 - 3 - 3 ซึ่งหมายถึงเรียนในขั้นประถมศึกษา 6 ปี เรียนในชั้นมัธยมต้น 3 ปี และเรียนในชั้นมัธยมปลายอีก 3ปี หลังจากนั้นเป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ศึกษา 2 ปี ได้ปวส. หรืออนุปริญญา ศึกษา 4 ปี ได้ปริญญาตรี ศึกษาอีก 2 - 3 ปื ได้ปริญญาโท ศึกษาอีก 2-5 ปีได้ปริญญาเอก ซึ่งระยะเวลาในการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะขึ้นอยู่กับหลักสูตรและตัวนักศึกษาเป็นสำคัญ เราลองมาดูกันว่าการจัดการศึกษาในระดับต่างๆมีแนวทางอย่างไร สนองตอบต่อผู้เรียนได้มากน้อยเพียงใด ดังนี้

ระดับประถมศึกษา
การจัดการศึกษาในระดับนี้ มีการจัดการศึกษา หลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน แต่ดูเหมือนว่าการศึกษาในระดับนี้ ผู้ปกครองจะให้ความสนใจและเชื่อมั่นที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนมากกว่า ถึงแม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากก็ตาม เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นวิชาการ ตลอดจนมีการเสริมกิจกรรมต่างๆ ทำให้ผู้ปกครองมีความรู้สึกว่าลูกหลานของตนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ระดับมัธยมศึกษา
การจัดการศึกษาในระดับนี้ ก็มีการจัดการศึกษาอยู่หลายหน่วยงาน โดยในระดับนี้ผู้ปกครองมักจะหันมาสนใจให้ลูกหลานได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั้งโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล โดยการวิ่งฝากหรือมอบเงินบริจากให้โรงเรียนจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าการได้ให้ลูกหลานได้เข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ มีชื่อว่าได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงพูดคุยไม่อายใคร ลูกหลานได้รู้จักเพื่อนที่มีฐานะเดียวกันหรือฐานะสูงกว่า การเรียนการสอนน่าจะดีกว่าโรงเรียนที่ไม่มีชื่อเสียง จึงเป็นปัญหาที่ทำให้โรงเรียนที่มีชื่อเสียงแต่ละโรง ต้องรับนักเรียนเป็นจำนวนมากจนล้นห้องเรียน เพราะความต้องการเงินบริจากจากผู้ปกครองนั่นเอง โดยไม่สนใจว่าคุณภาพการเรียนการสอนจะเป็นอย่างไร ส่งผลเสียต่อการดูแลนักเรียน และความด้อยในคุณภาพการศึกษา และเมือคุณภาพการสอนด้อยลง การเรียนพิเศษเพื่อเสริมความรู้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ขึ้นมาได้ ดังนั้นเราจึงเห็นนักเรียนจะต้องเรียนพิเศษกับครูที่สอนประจำบ้าง หรือโรงเรียนกวดวิชาภายนอกโรงเรียนบ้าง ซึ่งก็จะต้องใช้เงินในการเรียนพิเศษอีกจำนวนมาก การเรียนพิเศษเป็นตัวบ่งบอกถึงความด้อยคุณภาพของการศึกษาบ้านเรา เพราะความไม่มั่นใจของผู้ปกครอง และนักเรียน หากเรียนในโรงเรียนเพียงอย่างเดียวน่าจะไม่มีความรู้มากเพียงพอ

ระดับอุดมศึกษา
การจัดการศึกษาในระดับนี้ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อนำวิชาชีพ ไปประกอบอาชีพ นั่นหมายถึงว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะเป็นตัวกำหนดอาชีพของผู้ที่ศึกษาว่าในอนาคตจะมีอาชีพอะไร ดังนั้นจัดการศึกษาในระดับนี้จะต้องมีการกำหนดสาขา และจำนวนนักศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประเทศ แต่ที่ผ่านมาการผลิตบัณฑิตออกมาแต่ละปีไม่มีความสอดคล้อง กับแผนกำลังคนของประเทศเลย สถาบันอุดมศึกษามักจะนิยมผลิตบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ เพราะผลิตได้ง่าย ลงทุนต่ำ มีอาจารย์สอนมากมาย ส่วนผู้ปกครองและนักศึกษาก็ไม่สนใจขอให้ได้จบและได้รับปริญญาก็เพียงพอแล้ว ปัจจุบันเราจึงเห็นบัณฑิตตกงานจำนวนมาก ที่เรียนไม่ตรงกับความต้องการกำลังคนของประเทศ และที่สำคัญมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นหน่วยผลิตกำลังคน ระดับประเทศ เริ่มหันมาออกนอกระบบราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จึงทำให้ต้องเก็บค่าเล่าเรียนจำนวนสูงมาก เพราะต้องเลื้ยงตัวเอง ต้องจ่ายค่าสอนให้กับอาจารย์ในอัตราสูง ผลก็ตกกับนักศึกษาที่ต้องจ่ายค่าหน่วยกิตในอัตราที่สูงมาก จนคนยากคนจนไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนในมหาวิทยาลัยในระบบได้ คงมีเพียงมหาวิทยาลัยตลาดวิชารามคำแหงแห่งเดียวที่เป็นที่พึ่งได้

การจัดการศึกษาในแต่ละระดับต่างก็มีปัญหาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบจะตั้งใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากนัอยเพียงใด ซึ่งประเด็นปัญหาสำคัญ ก็คิอ คุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ตกต่ำ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่สูงเกินไป ค่านิยมโรงเรียนมีชื่อเสียง และค่านิยมปริญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น