พานิชพล มงคลเจริญ

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การจัดการศึกษาแบบไทยๆ ไม่ต้องใช้แผนผลิตกำลังคน

หลักการการจัดการศึกษาเพื่อให้มีผลต่อการพัฒนาประเทศในทิศทางและตามแนวทางที่ถูกต้อง จะต้องยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการพัฒนาการศึกษา และแผนอื่นๆที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อกำหนดปริมาณและคุณภาพ ในการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนา หรือการก้าวเดินของประเทศ
แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาในทุกระดับ ต่างสนองเพียงนโยบายของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจที่จะใช้แผนพัฒนาประเทศประเภทต่าง รวมทั้งงานวิจัยอันทรงคุณค่า ที่นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิระดมสมองกันเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาและชี้นำสังคมสู่พัฒนาการที่มั่นคง และบังเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม
ข้าราชการประจำระดับสูง ก็ไม่กล้าพอที่จะกำหนดโยบาย ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของนักการเมือง เพราะข้าราขการดังกล่าวย่อมต้องการความก้าวหน้า หรือคงสถานะของตนเองให้นานที่สุด ดังนั้นจึงทำให้พัฒนาการด้านการศึกษาในประเทศ ขาดทิศทางและเป้าหมายที่สอดคล้องกับสิ่งต่างๆที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะผลิตผลที่ไม่สอดคล้องกับต้องการกำลังคนของประเทศ
ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวกันว่า "หากเห็นคนญี่ปุ่นยืนจับกลุ่มคุยกัน และใช้โยนก้อนหินลงบนศรีษะของชาวญี่ป่นกลุ่มนั้น ก้อนหินที่ถูกโยนออกไปก็จะถูกเพียงหัววิศวกร หรือหัวแพทย์เท่านั้น " เพราะหลังสงครามเป็นช่วงเวลาที่ต้องก่อร่างสร้างประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องใช้วิศวกรในการซ่อมแซมและสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา สำหรับแพทย์ก็ใช้รักษาผู้เจ็บป่วย เนื่องจากผลแห่งสงครามจะมีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นบุคคล 2 อาชีพนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ขณะนั้น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นจึงกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาเพื่อเร่งผลิตกำลังคนในการเยียวยาและเพื่อการพัฒนาประเทศ
การวางแผนกำลังคนเพื่อสร้างคนที่มัคุณภาพและเป็นกำลังหลักของประเทศนั้น ผู้กำหนดนโยบายจะต้องมีแนวทางที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ การที่จะผลิตกำลังคนตามชอบใจนับต่อแต่นี้คงไม่ได้แล้ว เพราะ
1. ค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปทั้งค่าใช้จ่ายของครอบครัว และงบประมาณของรัฐที่เป็นภาษีของประชาชน
2. เวลาที่สูญเสียไประหว่างการศึกษา เป็นจำนวนหลายปี กว่าจะสร้างจนมีความรู้และทักษะให้กับคนเพียง 1 คน
3. การสูญปล่าทางการศึกษา เฉพาะกรณีที่บุคคลนั้นๆ ไม่ได้ใช้วิชาชีพหรือความรู้ที่ร่ำเรียนมา หรือไม่ยอมทำงานก็ถือเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา ที่ประเทศชาติไม่สามารถใช้ประโยชน์กับบุคคลเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือไม่ได้กำลังคนที่จะมาช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ
4.ปัจจุบันอัตราการเกิดของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ในระดับดีและระดับปานกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีบุตรเพียง 1 - 2 คน ทั้งนี้เนื่องจากผลของการวางแผนครอบครัว ทำให้ทรัพยากรด้านบุคคลมีจำนวนจำกัด ดังนั้นการจ้ดการศึกษาจึงต้องตรงจุด และต้องมีคุณภาพ
5.ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีข้อตกลง "FTA"ด้านแรงงานในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหมายถึงข้อตกลงในด้านแรงงานระดับต่างๆ ที่สามารถเข้ามาทำงานในประเทศใดก็ได้ในกลุ่มอาเซียนที่มีข้อตกลงกัน ด้งนั้นหากเราไม่มีการวางแผนเชิงรุกด้านการศึกษาและการผลิตกำลังคนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ คนไทยคงตกงานเป็นแถวๆแน่ เพราะแรงงานในประเทศอาเซียนค่าแรงยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า อาจมีความขยันและตั้งใจกว่า ข้อเรียกร้องมีน้อยกว่า ฝีมือทักษะมีการพัฒนาขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ต้องจัดสวัสดิการให้มากมาย ที่สำคัญแรงานอาเซียนเหล่านี้พยายามเรียนรู้ภาษาไทย และส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดี ดังนั้นสถานประกอบการย่อมเลือกแรงงานเหล่านี้เข้าทำงานอย่างแน่นอน และในทางกลับกันแรงงานบ้านเราก็สามารถไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้เช่นกัน แต่หากเราไม่พัฒนาคนของเราให้มีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่านี้ สถานประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านคงไม่สนใจที่จะรับคนของเราเข้าทำงาน สาเหตุเพราะค่าแรงสูงกว่า ความขยันอดทนอาจสู้ไม่ได้ และทักษะด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษสู้ประเทศในกลุ่มไม่ได้
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือบุคคลในครอบครัว ก็ใช้ทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ตลอดจนทรัพยากรที่มากมายในการผลิตกำลังคนจนกว่าจะทำงานได้ แต่หากกำลังคนที่ผลิตมานั้นกลับไม่มีประโยชน์ในการช่วยพัฒนาประเทศเลย เนื่องจากการขาดการวางแผนการผลิตกำลังคนที่ชัดเจนและสอดคล้องกับการพัฒนาการของประเทศ เราคงมีแต่สินค้าตำหนิที่ไม่มีใครต้องการ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น