พานิชพล มงคลเจริญ

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความด้อยพัฒนาด้านการศึกษา

สมัยที่ผมยังเป็นเด็กวิ่งเล่นอยู่แถววัดสะพานสูง ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต กรุงเทพฯ  จึงได้มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนช่างอากาศอำรุง สมัยที่ท่านนาวาอากาศโทกระวี ฤทธิบุตร เป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านได้บอกกับทุกคนว่า "ครูจะชื่นใจและประทับใจมากที่เห็นลูกศิษย์ยกมือไหว้ หากเทียบกับการทำความเคารพของทหารผู้ใต้บังคับบัญชาของครูแล้วความรู้สึกและความประทับใจห่างไกลกันมาก" นี่ก็แสดงให้เห็นถึงอานุภาพเแห่งความสัมพันธ์ของความเป็นศิษย์เป็นครูกัน ตลอดสมัยที่ผมเรียนอยู่ ณ โรงเรียนแห่งนี้ ผมได้มีโอกาส สัมผ้ส กับครูที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาน ห่วงลูกศิษย์จะไม่มีความรู้ ให้กำลังใจ ติดตามสอบถามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์ทุกคน โดยเฉพาะศิษย์ที่เรียนค่อนข้างอ่อน และที่มีนิสัยเกเร หากศิษย์คนใดมีพัฒนาการน้อยกว่าคนอื่น ครูก็จะสอนพิเศษให้ในตอนเย็น โดยไม่เรียกเงินทองเป็นค่าสอนแม้แต่น้อย ครูในสมัยนั้นมีเงินเดือนเพียงน้อยนิดไม่มีเงินพิเศษใดๆ แต่เป็นครูด้วยจิตวิญญานมุ่งที่จะสอนให่ศิษย์ให้เป็นคนดี ให้เป็นคนเก่ง และเป็นสมบัติของสังคมที่มีคุณภาพ ศิษย์ในสมัยนั้นสามารถกราบเท้าได้ด้วยความซาบซึ้งและสนิทใจ

ผมถือว่าโชดดีที่ได้มีโอกาสพบครูที่เป็นครูอย่างแท้จริง ในปัจจุบันและอนาคตเรื่องที่ผมเล่าให้ฟังมานี้ อาจเป็นเพียงสิ่งที่เหลือเชื่อ เพราะสภาพสังคมปัจจุบันทุกคนมุ่งหาปัจจัยเพื่อการ"เสพ" ซึ่งไม่มีวันที่จะเพียงพอ และนับวันจะเพิ่มความอยากและต้องการมากขึ้น สังคมปัจจุบันสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัวเด็ก มีแต่สิ่งที่จะนำความเสื่อมโทรมมาให้ ทั้งร่างกายและจิตใจ ของเด็ก ดังนี้

พ่อแม่หรือผู้ปกครอง สภาพสังคมปัจจุบันโดยเฉพาะสังคมเมือง โอกาสที่ลูกจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง มีโอกาสน้อยมาก เพราะครอบครัวปัจจุบันมักเป็นครอบครัวเดี่ยว ต่างจากสมัยก่อนที่่เป็นครอบครัวใหญ่อย่างน้อยก็ยังมีปูู่ย่าตายายอยู่ในบ้าน คอยอบรมสั่งสอนและเป็นแบบอย่างให้กับบุตรหลานหวังเพียงให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและสังคม แต่ปัจจุบันสมาชิกในครอบครัวต่างออกไปทำมาหากิน เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ และใช้จ่ายเพื่อตนเองและครอบครัว ซึ่งก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน ทำให้รายจ่ายจำนวนมากต่องใช้เป็นดอกเบี้ย สิ่งนี้จึงเป็นการบังคับให้สมาชิกทุกคนออกไปหาเงิน ลืมภารกิจสำคัญในการอบรมบุตรหลาน ให้ได้เพียงแต่เงิน และมักตามใจอยากได้อะไรก็หาให้ เพราะไม่มีเวลาให้ และกล้วลูกหลานจะไม่รัก ทำให้ลูกหลานหลงละเลิงไปกับเพื่อนที่หามาเพื่อทดแทนความอบอุ่นที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีให้ เด็กปัจจุบันจึงค่อยๆถูกทำลายความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมลงไปอย่างไม่ตั้งใจ ทำให้มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ชอบความสบาย เอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผล ไม่รับผิดชอบ ไม่สนใจอนาคต และไม่สนใจที่จะศึกษาหาความรู้ ดังคำกล่าวที่ว่า "วินัยเริ่มที่ครอบครัว"

ครผู้สอน เมื่อสถาบันครอบครัวล้มเหลว พ่อแม่ผัููปกครองซึ่งก็รู้ว่าตนไม่มีเวลาเพียงพอที่จะอบรมสั่งสอนบุครหลานได้ จึงได้ผลักภาระการอบรมสั่งสอนให้กับผู้ที่เป็นครู โดยมีความคาดหวังว่าครูจะช่วยอบรมให้บุตรหลานของตนเป็นคนดีคนเก่งได้ แต่หารู้ไม่ว่าครูในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากครูเป็นผู้สอนหรือเป็นผู้รับจ้างสอนไปแล้ว เพราะปัจจุบันครูไม่ได้ทำหน้าที่ครูเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำหน้าที่อื่นๆอีกมากมาย เช่นงานธุรการ การจัดกิจกรรมต่างๆ สนองนโยบาย ผู้บังคับบัญชาใช้งาน รองรับการประเมินสารพัด ทั้งการประเมินสถานศึกษาหลากหลายประเภท การประเมินการประกันคุณภาพ การทำวิทยะฐานะให้สูงขึ้น ทำให้เวลาการเตรียมการสอน และการดูแลเอาใจใส่นักเรียนจึงไม่มี บทเรียนที่สอนตามหลักสูตรมี 20 บท ก็อาจสอนเพียง 10 บท เวลาสอบก็สอบเพียง 10 บท แล้วอย่างนี้จะให้ความรู้สอดคล้องกับชั้นที่เรียนได้อย่างไร เพราะจบ ม. 3 ก็อาจมีความรู้เพียง ป.6 ก็เป็นได้ แถมยังมี นโยบายที่ห้ามสอนให้เด็กสอบตกอีก ดังนั้นครูจึงถูกตัดทอนหน้าที่ด้านการสอน รวมทั้งการวัดและประเมินผล จึงทำให้ปัจจุบันได้มีโอกาสเห็นเด็กนักเรียนจบ ม.3 อ่านและเขียนภาษาไทยผิดๆถูกๆ แต่ก็ถูกผลักดันให้จบจะได้พ้นภาระไป หากปัจจุบันมีการสอบโดยใช้ข้อสอบกระทรวงฯ กับผู้อยู่ชั้นตัวประโยค เพื่อสำเร็จการศึกษาเหมือนในสมัยที่ผ่านมา คงจะได้เห็นเด็กนักเรียนสอบตกกันอย่างมากมาย ท่านทั้งหลายลองหลับตาและนึกถึงอนาคตของประเทศ ที่ต้องฝากไว้กับผลผลิตจากการศึกษาเหล่านี้ว่าจะเป็นเช่นใด

ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำในองค์กรระดับสถานศึกษาก็มีส่วนไม่น้อยในการทำให้การจัดการศึกษาของประเทศล้มเหลว เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มักจะทำงานหวังเพียงตำแหน่งที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงคอยแต่จะเอาใจ และรับนโยบายจากผู้บริหารในระดับสูง เพียงเพื่อให้ตนได้มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ หาเรื่องไปประชุมสารพัดเรื่อง ให้กิจกรรมนอกสถานศึกษามีความสำคัญกว่ากิจกรรมภายใน ละเลยการส่งเสริมให้ครูได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง ทำให้การแก้ปัญหาและการพัฒนาในสถานศึกษากลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไป ผู้บริหารที่มองแต่ข้างบนไม่ยอมมองลงมาข้างล่าง ก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากหุ่นยนต์ที่จะถูกบังคับให้เดินหน้าถอยหลังหันซ้ายหันขวา

ผู้บริหารระดับสูง ผู้นำองค์กรการศึกษาระดับสูง บุคคลกลุ่มนี้ก็หว้งความก้าวหน้าของตน มากกว่าความก้าวหน้าของการศึกษาชาติ ปัจจุบันความก้าวหน้าอยู่ในระดับเทียบเท่า ซี 9 ซี 10 ซี 11 ชอบไปดูงานต่างประเทศเพราะได้เที่ยวและมีโอกาสนำสิ่งใหม่ๆมา เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆเพื่อการศึกษา ซึ่งในขณะที่ไปดูงานในต่างประเทศโดยเฉพาะทางยุโรป มักจะนำสิ่งที่ตนเห็นว่าดีและมีการใช้จนประสบความสำเร็จในประเทศนั้นๆ จึงนำมาจัดประชุมขยายผล โดยไม่ได้ศึกษาพื้นฐานหรือบริบทของความเป็นไทยก่อนว่ามีความเหมาะสมเพียงใด หลายๆสิ่งที่นำมาใช้มักล้มเหลว เสียงบประมาณในการดำเนินโครงการมากมาย 10 คน ไปดูก็นำมา 10 อย่าง แต่เอาเพียงเศษเสี้ยวของเขาทาเท่านั้น ทำให้การศึกษาบ้านเราจึงเละอย่างไม่เป็นท่า เพราะเสมือนการนำเอาภาพจิ๊กซอว์คนละภาพมาต่อกัน บางคนนำของใหม่มาเผยแพร่ ของเก่าที่ทำอยู่เสียงบประมาณไปมากมายให้ยกเลิก ไม่มีการสานต่อใดๆ เพราะผู้ใหญ่บ้านเราไม่ชอบทำตามใคร ชอบให้คนอื่นคิดว่าตนเองเป็นคนริเริ่ม แม้จะลอกเขามาก็ตาม งบประมาณเพื่อพัฒนาครูในด้านการศึกษางานในต่างประเทศ มีทุนมาก็ยากที่จะถึงครู หรือบุคลากรในสถานศึกษา อาจมีบ้างสำหรับการดูงานที่ต้องเสียค่าเิดินทาง และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเอง ครูคนไหนอยากไปก็คงต้องควักกระเป๋าหรือกู้เขามาเพื่อไปดูงานมาพัฒนาการเรียนการสอนเอง คงไม่มีวาสนาเช่นท่านผู้ใหญ่ที่กล่าวมานี้หรอก

หลักสูตร ในสมัยก่อนวิชาที่เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีวิชาที่เป็นหลักๆไม่กี่วิชา เช่นคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ และหน้าที่ศีลธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่นักเรียนจะต้องใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อ และใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างชัดเจน แต่หลักสูตรในปัจจุบันได้ตัดทอนวิชาเหล่านี้แล้วนำมาบูรณาการ ผสมผสานกัน ตามความคิดของผู้ร่างหลักสูตร อยากให้เด็กรู้อะไรก็จับใส่เข้ามา จนปัจจุบันแยกแยะไม่ออกว่าเรียนแล้วจะใช้อะไรได้บ้าง ผลนักเรียนงง อ่านเขียนไทยก็ยังไม่ถูกเลย หลักสูตรที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้เพียงเศษเสี้ยว ไม่ได้ลงลึกถึงแก่นแท้ และไม่ครอบคลุม จึงถือว่าเป็นการให้ความรู้แบบฉาบฉวย จึงเป็นผลให้ผลผลิตของการศึกษาในปัจจุบัน กลายเป็นคนไม่มีเหตุผล ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่รักที่จะเรียนรู้ สมัยผมเป็นเด็กคุณยายผมเรียนจบแค่ชั้น มัธยม 1 โรงเรียนเบจมราชาลัย ยังสามารถสอนภาษาอังกฤษ ภาษาไทยให้ผมได้เลย แสดงว่าหลักสูตร และวิธีการสอนของครูในสมัยก่อน มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงกว่าการเรียนการสอนในปัจจุบันหรืออย่างไร


สำหรับผู้ที่ฝากความหวังไว้กับการศึกษาบ้านเรา คงจะต้องหันมาร่วมมือกันเพื่่อพัฒนาการศึกษา โดยร่วมมืออย่างจริงจังในระดับปฏิบัติพร้อมเพรียงกันทุกฝ่ายทั้ง บ้าน วัด และ โรงเรียน (บวร) สะท้อนให้ระดับนโยบายได้เห็นสภาพจริง ความจำเป็น และแนวทางในการพัฒนาเยาวชนของชาติที่ถูกทิศถูกทาง ผมยังเสียดายสมัยที่ท่าน ศ.ดร.สาโรช บัวศรี ท่านพยายามผลักดันให้มีการจัดการศึกษาด้วยพุทธปรัชญา หรือโรงเรียนวิถีพุทธ แต่ไม่ได้รับการตอบรับและสนับสนุนเท่าที่ควร ซึ่งการนำหลักของพระพุทธศาสนามาจัดการศึกษานี้ ผมเชื่อมั่นว่าสามารถตอบโจทย์จากปัญหาต่างๆ ได้อย่างแน่นอน เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทย เลิกเสียที่เถอะที่จะนำปรัชญาของตะวันตกมาจัดการศึกษาบ้านเรา เพราะคนไทยมักเห่อความคิดของฝรั่ง บ้านเรามีพุทธศาสนาที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แม้แต่ผู้มีชื่อเสียงของโลกยังให้การยอมรับและเคารพนับถือ เรามีของดีอยู่แล้ว กล้บไม่นำมาใช้ ปรัชญาของฝรั่งที่ว่าดีใช้ในการอ้างอิงในงานวิจัยต่างๆ ผมยังมีความเชื่อว่า คนเหล่านี้อาจไม่ได้คิดขึ้นมาเอง อาจจะไปพบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำความคิดมาเป็นของตนก็ได้ เพราะหลายต่อหลายปรัชญามักตรงกับที่พระพุทธองค์ตรัสทั้งนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น