พานิชพล มงคลเจริญ

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ภารกิจที่ยากและสำคัญที่สุดก็คือการธำรงรักษาเพื่อการคงอยู่

ความฝันของมนุษย์คือการได้เป็นอมตะ ที่จะคงสภาพชีวิตให้คงอยู่ตลอดไปโดยไม่มีวันตาย  ถึงแม้มนุษย์จะเพียรพยายามสักปานใด  สุดท้ายก็ไม่สามารถเอาชนะจุดจบของชืวิตลงได้    ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุุทธองค์  ที่ว่า "ทุกสรรพสิ่ง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป" ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์  ถ าวรวัตถุใดๆ  หรือแม้แต่องค์กรต่างๆ  ก็หนีไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้  ซึ่งการจะสร้างสิ่งใดให้เกิดไม่ใช่เรื่องยาก การทำให้ตายหรือการทำลายให้สูญสิ้นก็ยิ่งไม่ยาก  แต่ภารกิจแห่งการธำรงรักษาให้ชีวิตหรือสิ่งใดๆคงอยู่ยืนยาวตลอดไปนี่ซิยากเรื่องยาก

ในศาสนาฮินดูมีมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ 3 พระองค์  คือพระพรหมมหาเทพผู้สร้าง  พระอืศวรหรือพระศิวะมหาเทพผู้ทำลายล้าง  และพระนารายณ์หรือพระวิษณุ  มหาเทพผู้ธำรงรักษา
  • "พระพรหม"   มหาเทพผู้สร้างโลก และทุกสรรพสิ่ง
พระพรหม"  มหาเทพผู้สร้าง ทรงมีกำเนิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งใดๆปรากฎขึ้นมาก่อน    (ตามตำราปุราณะของพราหมณ์ฝ่ายพระพรหม)  ทรงกำเนิดจากดอกบัวที่ผุดจากพระนาภี (สะดือ) ของพระวิษณุ  (ตามตำรา ปุราณะของพราหมณ์ฝ่ายไวษณพนิกาย)  ทรงกำเนิดจากพระศิวะใช้พระหัตถ์ลูบพระหัตถ์อีกข้างหนึ่งจนบังเกิดเป็นแสงพระพรหมจึงได้อุบัติขึ้นมาจากแสงนี้  (ตามตำราปุราณะของพราหมณ์ฝ่ายไศวะนิกาย) พระพรหมทรงโปรดความสงบ ไม่ทรงโปรดความวุ่นวาย  มีพระทัยอ่อนโยน ทรงรักและทรงเฝ้าดูทุกสรรพสิ่งที่พระองค์สร้่างขึ้น ด้วยความเมตตา  และทรงอำนวยอวยพรแก่ผู้กระทำความดี  ทรงสร้างเทพองค์อื่นๆ  มนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ และทุกสรรพสิ่งบนโลก 


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระพรหม
พระพรหม มหาเทพผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง



  • "พระศิวะ" หรือ "พระอิศวร""  มหาเทพผู้ทำลายล้าง  
"พระศิวะ" หรือ "พระอิศวร"  มหาเทพผู้ทำลายล้าง  ทรงมีกำเนิดหลังจากโลกถูกไฟบรรลัยกัลป์ทำลายล้าง ทำให้คัมภีร์พระเวทและพระธรรมมาประชุมกัน  บังเกิดเป็นเทพองค์หนึ่งชื่อ "พระปรเมศวร" (คัมภีร์โบราณที่ปรากฎในหอวชิรญาณ)  พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยอำนาจเป็นทั้งผู้ใจดีและผู้ดุร้าย   นอกจากนั้นพระองค์ยังเป็นเทพแห่งคีตาซึ่งหมายถึงเทพแห่งการดนตรีและระบำรำฟ้อน  กาลใดที่โลกมีแต่สิ่งเลวร้าย  มนุษย์ในโลกประพฤติชั่วจนไม่สามารถแก้ไขได้  องค์พระศิวะ จะเต้นระบำที่มีท่วงท่าเร่าร้อนและรุนแรง  เป็นผลให้โลกสั่นไหวอย่างรุนแรง  จนบังเกิดเป็นไฟบรรลัยกัลป์  เผาผลาญโลก  ทำให้สิ่งมีชีวิตและสรรพสิ่งในโลกถูกทำลายไปจนหมดสิ้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระศิวะ
พระศิวะหรือพระอิศวร มหาเทพแห่งการทำลายล้าง


  • "พระนารายณ์" หรือ "พระวิษณุ"   มหาเทพผูธำรงรักษา                                                
 "พระนารายณ์" หรือ "พระวิษณุ"   มหาเทพผูธำรงรักษา  ทรงมีพลานุภาพขจัดสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง   เหล่ามารต่างกลัวเกรง   ทรงขจัดอุปสรรค์และความข้องขัด  ทรงแย้มยิ้ม  สุภาพ  และให้ความคุ้มครองโดยเฉพาะกับผู้ทรงศีลและผู้ประพฤติดี   ยกเว้นกับผู้ใฝ่อธรรม  คราใดที่โลกเกิดความอยุติธรรมพระองค์จะลงมาขจัดสิ่งชั่วร้าย  ทรงช่วยแก้ไขปกป้อง  เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ปกติสุข  ทั้งนี้เพื่อให้โลกธำรงอยูู่  เพราะหากบังเกิดสิ่งชั่วร้ายมากๆจนแก้ไขไม่ได้ โลกก็จะถูกองค์พระศิวะทำลาย  พระองคฺ์จึงทรงอวตารลงมาโลกมนุษย์ ถึง 10 ครั้ง หรือที่เรียกว่านารายณ์ 10 ปาง  ทั้งนี้เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้าย  และขจัดปัดเป่า  ทุกข์เข็ญ เพื่อให้โลกกลับคืนสู่ความสงบ  และไม่ถูกทำลาย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระนารายณ์
พระนารายณ์ มหาเทพผู้ธำรงรักษา
           
 ดังจะเห็นได้ว่าภารกิจของพระนารายณ์หรือผู้ที่ต้องการธำรงรักษา  เพื่อให้โลกมีอายุยืนยาวที่สูด  ถือว่าเป็นภารกิจที่หนัก  ยุ่งยาก และยาวนาน จะต้องคอยดูแลสถานการณ์ของโลกตลอดเวลา  หากคราใดที่เกิดความอยุติธรรมขึ้น โลกมนุษย์เกิดความวุ่นวาย  พระองค์ก็จะต้องอวตารลงมา  เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยพระองค์เอง  เพื่อให่โลกธำรงอยู่ให้ได้  เพราะมิฉนั้นพระศิวะก็อาจะทำลายล้างโลกนี้ก็ได้

อย่างไรก็ตามวาระสุดท้ายของโลกก็ต้องมาถึงเข้าสักวัน   ตามหลัก "ไตรลักษณ์" ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า  คือการเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และดับไป  ไม่มีสิ่งใดหลุดพ้นจากหลัก "ไตรลักษณ์" นี้ไปได้ ซึ่งผู้สร้างใดๆก็เปรียบเสมือนผู้ทำหน้าที่ของพระพรหม เช่นบิดามารดาก็เปรียบเหมือนพรหมของลูก   ต่อเมื่อและเจริญวัยขึ้น  ตนของตนก็ทำหน้าที่เสมือนพระนารายณ์ที่จะต้องธำรงรักษาชีวิตให้ยืนยาว เป็นผู้ประพฤติดี และมีความเจริญก้าวหน้า  แต่สุดท้ายชีวิตก็ต้องทำลายแตกดับในที่สุดไม่มีใครหลีกหนีพ้นไปได้  ฉนั้นเราทุกคนควรจะต้องทำหน้าที่ให้เสมือนพระนารายณ์ เพื่อให้ชีวิตรุ่งเรืองและยืนนานที่สุด             


วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ ที่ผมรู้จัก

ปีพ.ศ. ๒๕๓๕   ณ สำนักงานชั่วคราววิทยาลัยการอาชีพไทรน้อย  บริเวณโรงเรียนชุมชนวัดราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ผมได้พบกับเพื่อนผู้บริหารผู้หนึ่งซึ่งเคยอบรมผู้บริหารรุ่นเดียวกัน  หลังจากได้สนทนาพูดคุยกัน   จึงทราบว่ากำลังมาหาที่ดินเพื่อปลูกบ้านไม้เรือนไทยของพ่อตา   ซึ่งถูกเวรคืนจากบริเวณถนนสาทร เมื่อทราบความประสงค์ผมจึงพาไปหาที่ดินจนได้ที่ดินจำนวน ๙ ไร่ อยู่ฝั่งตรงข้ามวิทยาลัยการอาชีพไทรน้อย (วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรีปัจจุบัน)  และหลังจากนั้นประมาณปีเศษบ้านเรือนไทยดังกล่าวก็ถูกรื้อจากถนนสาทร และนำมาปลูกในรูปทรงเดิมด้วยช่างจากจังหวัดเชียงราย    ต่อมาผมจึงรู้ว่าเจ้าของบ้านไม้เรือนไทยหลังนี้ก็คือ ศ.ดร.แนมบุญสิทธิ์  ปรมาจารย์การสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น  ซึ่งบุคลากรในวงการการศึกษารุ่นเก่า และผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษานอกโรงเรียนให้ความเคารพ


หลังจากนั้นมาถือได้ว่าผมเป็นผู้โชคดีที่ได้มีโอกาสเสวนากับท่าน   ในตอนเย็นหลังเลิกงาน  และในวันเสาร์-อาทิตย์     ซึ่งทำให้ทราบว่า ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ พื้นเพท่านเป็นคนอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ถึงแม้วันที่พบท่านมีอายุย่างเข้าปีที่ ๙๐ แล้ว  แต่ความจำและความคิดความอ่านของท่าน   ยังเหมือนคนวัยทำงานดูจากบุคลิกและความคิดเห็นของท่าน แสดงถึงอุดมการแนวทาง  และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านการศึกษาอยู่ตลอดเวลา  ในอดีตที่ผ่านมาท่านได้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนี้

  • ร่วมก่อตั้งสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทยกับ ศ.ดร.สาโรช  บัวศรี , ศ.ดร.ก่อสวัสดิพาณิชย์  และ ศ.เชื้อ  สาริมาน  เป็นต้น  โดยจดทะเบียนสมาคมเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๙๘
  • อาจารย์ใหญ่โรงเรียนส่งเสริมอาชีพก่อสร้างสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้ยกวิทยะฐานะ  เป็นวิทยาลัยการก่อสร้าง ปัจจุบันคือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร  ลาดกระบัง
  • อาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนสารพัดช่างธนบุรี  กรมอาชีวศึกษา
  • หัวหน้ากองส่งเสริมอาชีพเคลื่อนที่  กรมอาชีวศึกษา
  • เป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยประเทศเกาหลี
  • ท่านได้เรียบเรียงตำราการพูดภาษาอังกฤษและพจนานุกรมคำคุณศัพท์  และตำราเรียนพูดภาษาอังกฤษ ๑๐๐๐ คำ ซึ่งหนังสือเล่มนี้  "พล.ต.ต.วิชัย  สังข์ประไพ" ได้ให้เจ้าหน้าที่ในชุดปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็ว (ปะ-ฉะ-ดะ) ท่องคำศัพท์ในหนังสือเล่มนี้ทุกวัน   เผื่อเวลาพบนักท่องเที่ยวจะได้ช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ 
  • นอกจากนั้น ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ ยังได้เรียบเรียงตำราพูด 8 ภาษา  ซึ่งเป็นประโยคง่ายๆที่ใช้ประจำในชีวิตประจำวัน  

ท่านเป็นผู้ริเริ่มและจัดให้มีการจัดตั้ง   หน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองส่งเสริมอาชีพ กรมอาชีวศึกษา   ซึ่งหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่นี้ จะใช้ยานพาหนะพาครูผู้สอน วัสดุอุปกรณ์ ไปสอนวิชาชีพให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันดาร โดยการสนับสนุนด้านยานพาหนะ  วัสดุ อุปกรณ์จากองค์การ "USOM"  ของสหรัฐอเมริกา   ที่ให้บริการและสนับสนุนหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่  จำนวนหลายสิบหน่วย ที่ให้บริการการสอนวิชาชีพทั่วประเทศ ด้วยการเดินทางแยกย้ายไปสอนวิชาชีพทั่วทุกภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเป็นพื้นที่ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกลความเจริญ โดยมีโรงเรียนสารพัดช่างพระนคร ที่ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง   ใกล้แยกแม้นศรี เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน  และนอกจากนั้นยังใช้เป็น "WARE  HOUSE"   สำหรับเป็นสถานที่จัดเก็บและเบิกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ให้กับหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่หน่วยต่างๆ  ที่จะหมุนเวียนเข้ามารายงานผลการสอนโดยครูใหญ่แต่ละหน่วย   โดยจะมีการรายงานผลการปฏิบัติงานทุกครั้งหลังจากการออกหน่วย  ซึ่งในช่วงนี้ครูผู้สอนเองก็ได้มีโอกาสพักผ่อน  ตรวจเช็คสภาพยานพาหนะ  เบิกวัสดุอุปกรณ์  เตรียมการสอน  และรับคำสั่งการสอนในพื้นที่อื่นๆต่อไป    สำหรับการจัดตั้งหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่นี้  ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ได้กล่าวกับผมว่าท่านได้แนวคิดจากการที่ได้เห็นพระภิกษุ แยกย้ายออกบิณฑบาตในตอนเช้าในเส้นทางที่แตกต่างกัน  และกลับเข้าสู่วัดซึ่งเป็นศูนย์กลาง   และออกมาบิณฑบาตใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น  ซึ่งท่านได้กล่าวต่ออีกว่าวิธีการในแบบวิถีพุทธนี้เป็นการเผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด 

จุดเปลี่ยนในชีวิตของท่านที่สำคัญคือ  ในระหว่างที่ท่านทำหน้าที่หัวหน้ากองส่งเสริมอาชีพ  ท่านได้พาผู้เชี่ยวชาญและผู้รู้ด้านวิชาชีพสาขาต่างๆ  ไปเปิดสอนวิชาชีพระยะสั้นให้กับประชาชน  ณ จังหวัดชุมพร  ซึ่งวิชาชีพที่ท่านนำไปสอนในขณะนั้น  เช่น  การถัดเนคไท  และการทำตรายาง  เป็นต้น  โดยจะเปิดสอนให้ฟรี ทำให้ประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาเรียนกันเป็นจำนวนมาก   ถึงแม้จะมีการจัดหลายครั้งคนก็ยังไม่ลดน้อยลง แต่กลับมีผู้คนจากท้องที่อื่นเดินทางเข้ามาเรียนอีกเป็นจำนวนมาก  จึงทำให้บุคคลที่ทำงานหน่วยงานเดียวกันมีความอิจฉา  เกรงว่าท่านจะมีผลงานและได้รับตำแหน่งสำคัญ  จึงให้ร้ายท่านว่าท่านกำลังซ่องสุมผู้คน และมีการกระทำตนเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ทางการสมัยนั้นประกาศจับตัวท่าน แต่ก็ได้มีผู้หวังดีช่วยเหลือท่านจนได้ออกนอกประเทศ    และไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านระยะหนึ่ง  แล้วจึงเดินทางต่อไปยังประเทศเกาหลี  เมื่อมหาวิทยาลัยในเกาหลีทราบข่าวจึงได้เชิญให้ท่านเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย  ท่านอาศัยอยู่ในเกาหลีเป็นเวลานานหลายปี  หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางไปอาศัยต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ระยะหนึ่ง  แล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทยในวัย 80 เศษ      

จากการที่ผมได้มีโอกาสเสวนากับ ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์  ทำให้ทราบว่าผู้ที่จะเป็นปูชนียบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรเคารพนั้น  จะไม่ถือตัวมีความเป็นกันเอง พร้อมที่จะให้ความรู้  มีความคิดเชิงบวก และมีเมตตาสูง สังเกตุเวลาที่ผมแสดงความคิดเห็น หรือเล่าเรื่องบางอย่างให้ท่านฟัง ท่านจะสงบนิ่งและตั้งใจฟัง  ตาจ้องมองผู้พูดตลอดเวลา  ไม่ขัดจังหวะการพูด  รอจนพูดจบท่านจึงจะพูดพร้อมกับการให้ข้อแนะนำด้วยแนวคิดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง   ท่านมีความเป็นปราชญ์เต็มตัว ท่านไม่หยุดที่จะเรียนรู้ หากมีสิ่งใดที่ท่านสงสัยท่านจะสอบถามทันที  สิ่งที่ท่านพกติดตัวตลอดเวลาก็คือสมุดเล่มเล็กๆและปากกาลูกลื่น ซึ่งท่านจะใช้จดสาระสำคัญหรือสิ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดของท่าน  ท่านได้ดำรงตนและยึดถือความมีหัวใจเป็นนักปราชญ์ คือ สุ-จิ-ปุ-ลิ  ตลอดเวลา

ท่านมีความเป็นห่วงว่าเด็กไทยเรา มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศน้อย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ท่านเรียกภาษาอังกฤษว่าเป็น "ภาษาของโลกเรา"  ผมเคยได้เรียนถามท่านว่าเหตุใดคนไทยเราเรียนภาษาอังกฤษมาก็หลายปีเรียนจนจบถึงระดับปริญญาก็ยังไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดว่าสาเหตุที่ประเทศเราไม่ประสบความสำเร็จในการสอนภาษาอังกฤษ หรือไม่สามารถสอนให้สามารถสื่อสารได้นั้น สาเหตุก็เนื่องจากหลักสูตรการสอนและครูผู้สอนของเราสอนแต่ไวยากรณ์ ซึ่งผิดหลักธรรมชาติ   การเรียนรู้ภาษาต้องเรียนทักษะการใช้ภาษาในการสื่อสารก่อน เหมือนการที่เราพูดภาษาไทยได้  เราก็ต้องหัดพูดมาก่อน จากนั้นจึงมาเรียนการอ่านเขียน แต่การเรียนภาษาอังกฤษของไทย  ครูจะสอนอ่านเขียนหรือไวยากรณ์ก่อน โดยไม่สนใจการสอนวิธีการพูด   กอรปกับคนไทยเราเป็นคนขี้อาย  การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยจึงไม่สามารถอยู่ในระดับที่จะสื่อสารกับชาวต่างประเทศได้

ศ.ดร.แนม  บุญสิทธิ์  เคยกล่าวกับผมว่า  หากเราได้ครูผู้สอนในชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย  มาจากผู้ที่สำเร็จวิชาชีพสายตรง  การเรียนการสอนในช่วงชั้นดังกล่าวก็จะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากผู้ที่จบวิชาชีพสายตรง  เช่นผู้ได้วุฒิทางวิทยาศาสตร์  (วทบ.)  หรือผู้ที่ได้วุฒิทางอักษรศาสตร์ (อบ.)   จะได้รับการศึกษาอบรมและเรียนรู้เนื้อหาวิชาชีพในสาขานั้นๆอย่างเข้มข้น  ดังนั้นหากรับเข้ามาเป็นครูก็เพียงแต่ต่อยอดวิชาครูให้ก็จะสามารถสอนนักเรียนได้แล้ว  ที่สำคัญครูเหล่านี้จะสามารถสอนให้นักเรียนมีความรู้ในศาสตร์นั้นๆได้ลึกซึ้งกว่าผู้ที่จบวิชาชีพครู  เนื่องจากผู้ที่จบสายครูจะต้องเรียนวิชาชีพครูจำนวนมาก ทำให้การเรียนในวิชาชีพหลักมีจำนวนน้อย  ซึ่งท่านได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า หากเปรียบเทียบความรู้ซึ้งในศาสตร์ "ภาษาอังกฤษ" ระหว่างผู้ที่จบ "ครุศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ)" กับผู้ที่จบ "อักษรศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ)" ผู้ใดจะมีความรู้ภาษาอังกฤษมากกว่ากัน

สำหรับการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา  ท่านได้ให้ทัศนะว่าการศึกษาด้านอาชีพเพื่อไปประกอบอาชีพ หรือการให้ผู้เรียนได้มีความรู้และทักษะจริงๆนั้น   สถานศึกษาควรจัดให้มีการเรียนทีละวิชา  จากวิชาพื้นฐานไปหาวิชาชีพขั้นที่สูงขึ้น  เช่นการเรียนวิชาการติดตั้งระบบไฟฟ้า  ก็ควรเรียนรายวิชาการเดินสายไฟฟ้าในอาคารก่อน  เมื่อเรียนจบจึงเรียนรายวิชาการปักเสาพาดสาย จากนั้นจึงเรียนรายวิชาการติดตั้งระบบไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งก็จะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ และมีโอกาสได้ฝึกทักษะอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง นอกจากนั้นผู้เรียน ยังสามารถนำความรู้และทักษะที่เรียนจบ ในแต่ละช่วง ไปประกอบอาชีพได้อีก  ลักษณะการเรียนเช่นนี้คือการเรียนในหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น หรือที่เรียกว่า "Block release" หรือ "ฺBlock course" ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เรียนในหลักสูตรดังกล่าว จะมีความรู้และทักษะพร้อมที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ทันที   แต่ในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในระบบ   โดยเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สถานศึกษาอาชีวศึกษาแทบทั้งหมดจะจัดตารางเรียนในลักษณะการเรียนวิชาสามัญ  โดยจะมีการเรียนการสอนในรายวิชานั้นๆ สัปดาห์ละ 3-6 ชั่วโมง หากผู้เรียนจะเรียนวิชานี้อีกก็ต้องรอเรียนสัปดาห์ต่อไป จึงทำให้ความรู้และทักษะของผู้เรียนไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับนี้  น่าจะมีความรู้และทักษะไม่เพียงพอที่จะออกไปประกอบอาชีพได้

ถึงแม้วันนี้ ศ.ดร.แนม  บุญสิทธิ์  ซึ่งเป็นที่รักเคารพของผม และของอีกหลายๆคน  จะล่วงลับไปแล้วตามกาลเวลาและสังขาร  แต่สิ่งที่ท่านฝากไว้กับวงการการศึกษาคงไม่วันลบเลือนไปได้   ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับปรมาจารย์ด้านการศึกษา  ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ความดี  ความเมตตา  แต่ไม่มีโอกาสได้พัฒนาความเจริญให้กับวงการศึกษาไทยได้มากเท่าที่ควร สาเหตุก็เนื่องจากการให้ร้ายกันเองในวงงานราชการ จนเราต้องสูญเสียผู้คนที่มีความรู้ความสามารถไปคนแล้วคนเล่า ซึ่ง ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์   ได้เคยกล่าวกับผมว่า "คนไทยเราควรแข่งกันทำความดีแข่งกันพัฒนามิใช่ว่าจะใช้ความอิจฉาของตนมาทำร้ายและกดคนอื่นให้ต่ำกว่าตน ผลก็คือประเทศเราก็จะมีแต่ตกต่ำ ไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้ทัดเทียมกับอารยะประเทศได้"



วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ครูช่างที่แท้จริง

ในสมัยที่โรงเรียนอาชีวศึกษายังเปิดสอนหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูง ซึ่งเทียบได้กับหลักสูตร ปวช. ในสมัยนี้  โดยหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูงในสมัยนั้น  ได้กำหนดให้นักเรียนช่างชั้นปีที่๑  ต้องเรียนรู้วิชาช่างทั้งหมด ๘ ช่าง คือช่างตีเหล็ก ช่างตะไบ ช่างโลหะแผ่นและบัดกรี  ช่างเชื่อมโลหะ  ช่างกลึง ช่างเครื่องยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างวิทยุ-โทรคมนาคม สำหรับนักเรียนช่างในชั้นปีที่๒ จะเหลือวิชาที่จะต้องเรียนรู้เพียง 3 ช่าง คือช่างเครื่องยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างวิทยุ-โทรคมนาคม และในชั้นปีที่ 3  ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูง จะต้องเลือกเรียนเฉพาะช่างที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพเพียงช่างเดียวเท่านั้น

ช่างเชื่อมโลหะ

การเรียนวิชาช่างทั้ง ๘ ช่าง จะทำให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานในการก้าวสู่ช่างมืออาชีพที่เน้นการใช้ทักษะในการทำงาน  ซึ่งในบรรดา ๘ ช่างนี้  ช่างตีเหล็กถือได้ว่าเป็นช่างโบราณที่มีประสิทธิภาพในการฝึกฝนพื้นฐานของผู้ที่จะมาเป็นช่างได้มากที่สุด เพราะหากผู้ใดได้ผ่านการฝึกฝนการตีเหล็กก็เท่ากับผู้นั้นได้ฝึกทั้งร่างกาย จิตใจ และทักษะ ไปพร้อมๆกัน  แต่น่าเสียดายที่วิชาช่างตีเหล็กได้ถูกยกเลิกการสอน ในสถาบันอาชีวศึกษาไปเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

ช่างตีเหล็ก

ในสมัยที่ผมเป็นนักเรียนช่าง และได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาช่างตีเหล็ก  ครูช่างตีเหล็กที่เคยสอนผมในสมัยนั้น ชื่อ "ครูแสวง" ซึ่งท่านมีรูปร่างสูงเพียว ผิวดำ ท่าทางเข้มแข็งทะมัดทะเมง เสียงดัง ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการตีเหล็กจากกรมอู่ทหารเรือ  ในขณะที่นักเรียนปฏิบัติการตีเหล็ก ทุกคนจะได้ยินเสียงของ "ครูแสวง" สอนสั่งวิธีการตีเหล็กที่ถูกต้อง  และว่ากล่าวผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกวิธีอยู่ตลอดเวลาด้วยน้ำเสียงอันดังของท่าน ก่อนการเรียนรู้และการฝีกฝนการตีเหล็ก  "ครูแสวง" จะให้นักเรียนทุกคนไหว้ครูตีเหล็กด้วยพิธีการยกมือไหว้ทั่งพะเนิน  ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่นเหล็กขนาดใหญ่ แล้วใช้ฆ้อนขนาด ๘ ปอนด์  ซึ่งมีหัวใหญ่ด้ามยาว ตีลงไปบนทั่งพะเนินจนครบ  ๙ ครั้ง  เมื่อครบทุกคนจึงจะเริ่มทำการสอนวิชาช่างตีเหล็ก

ฆ้อน ๘ ปอนด์
ทั่งตีเหล็ก

การเรียนช่างตีเหล็กนั้น   นักเรียนทุกคนจะต้องเรียนรู้วิธีติดเตาเผาเหล็ก วิธีใช้คีมคีบชิ้นงาน  วิธีดูสีของเหล็กที่ถูกเผาให้ร้อนแดง  วิธีตีเหล็กด้วยฆ้อนชนิดต่างๆ   วิธีตีเหล็กเพื่อขึ้นรูป  วิธีชุบแข็ง  และวิธีแต่งชิ้นงานด้วยตะไบ  ซึ่งขั้นตอนการฝึกฝนเหล่านี้ เท่ากับการหล่อหลอมให้นักเรียนช่างทุกคน  มีความอดทน  เข้มแข็ง รู้จักใช้จังหวะเวลา เพราะในขณะปฏิบัติงาน นักเรียนทุกคนจะต้องทนต่อความร้อนของอากาศและเปลวไฟ  กลิ่นการเผาไหม้ ควัน และเสียงที่ดังรบกวนอยู่ตลอดเวลา  และเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนในแต่ละวันนักเรียนทุกคนต่างหมดแรงปวดเมื่อยไปทั้งตัว  ไม่มีแรงจะไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับใครได้อีก

ลักษณะการตีเหล็กหลังจากการเผาเหล็กจนร้อนแดง

"ครูแสวง" ที่ผมรู้จักนั้นมีท่าทางเป็นที่น่าเกรงขามของนักเรียนช่างทุกคน แต่ก็เฉพาะในห้องเรียนหรือห้องปฏิบัติงานเท่านั้น แต่หากอยู่นอกห้องเรียนและมิใช่เวลาสอนท่านจะเปลี่ยนเป็นคนละคน กลายเป็นคนสุภาพอ่อนน้อม "ครูแสวง" จะรับไหว้นักเรียนทุกคนที่ไหว้ท่านด้วยหน้าตายิ้มแย้ม และทักทายด้วยไมตรี นักเรียนช่างในสมัยก่อน มักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันจนเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่มีการลอบทำร้ายหรือใช้เครื่องทุ่นแรง หรือมีการรุมทำร้ายกันเหมือนในปัจจุบัน หากไม่พอใจใครก็ท้าชกต่อยกันหลังโรงเรียนบ้าง ในห้องเรียนบ้าง เมื่อรู้แพ้รู้ชนะก็เลิกรากันไป ไม่มีการอาฆาตแค้นเคืองกัน บางคนกลับมาเป็นเพื่อนสนิทกันก็มี  มีเหตุการณ์อยู่ครั้งหนึ่ง  ที่ลูกศิษย์ของ "ครูแสวง" คนหนึ่งไม่พอใจ  ที่ถูกดุด่าว่ากล่าวในขณะทำการสอน  จึงท้าชกต่อยกับท่าน   ท่านก็ไม่ถือสาและรับคำท้านั้นโดยสั่งให้นักเรียนคนหนึ่ง ปิดห้องและให้เ้ฝ้าอยู่หน้าห้องเรียน และสั่งให้ทุกคนปิดเป็นความลับ หลังจากการชกต่อยในครั้งนั้น"ครูแสวง" หน้าตาปูดบวมโรงเรียนทราบข่าวจะไล่นักเรียนผู้นั้นออก  แต่"ครูแสวง" ได้ห้ามไว้ และบอกว่าหากไล่นักเรียนผู้นั้นออก "ครูแสวง" ก็จะลาออกทันที เนื่องจากท่านก็เป็นต้นเหตุในการทะเลาะวิวาทในครั้งนี้ด้วย นักเรียนผู้นั้นจึงไม่ถูกไล่ออก และเข้ามากราบเท้า "ครูแสวง" เพื่อขอขมากรรม นี่คือลักษณะของครูช่างที่แท้จริงของโรงเรียนช่างในยุคก่อน ทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังระลึกถึงพระคุณของท่าน  ที่ได้สอนสั่งให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้วิชาช่างตีเหล็ก และรู้ซึ้งถึงการเป็นครูช่างที่แท้จริง 








วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

นกดีต้องเลือกกิ่งไม้เกาะ

ในนวนิยายเรื่อง "สามก๊ก"  ในขณะที่ "เล่าปี่" และ "เตียวหุย" ไปลอบปล้นค่าย "โจโฉ"   "เล่าปี่" จึงมอบให้ "กวนอู" ดูแลครอบครัวของตน  แต่การปล้นค่าย "โจโฉ" ครั้งนั้นกระทำการไม่สำเร็จจึงถูกตีแตกพ่าย "เล่าปี่" ต้องหนีออกมาพึ่ง "อ้วนเสี้ยว"  และต่อมา "กวนอู" ได้ถูก "โจโฉ" จับได้ เนื่องจากเป็นห่วงและเกรงว่าครอบครัวของ "เล่าปี่" จะได้รับอันตราย จึงไม่ยอมหนีทิ้งไป  ซึ่ง "โจโฉ" ได้เกลี้ยกล่อมให้ "กวนอู" อยู่ด้วย  เนื่องจากชมชอบความกล้าหาญ ความเก่งกาจ ความซื่อสัตย์ และความกตัญญูของ "กวนอู"

เล่าปี่

"กวนอู" ได้ตอบตกลง แต่มีเงื่อนไขสามประการ ประการแรกตนจะรับใช้จักรพรรดิ์มิใช่ "โจโฉ"          อีกประการหนึ่งจะรับใช้พี่สะใภ้ทั้งสองเองห้ามมิให้ใครมายุ่งเกี่ยว และประการสุดท้ายหากทราบว่า "เล่าปี่" อยู่ ณ ที่แห่งใดจะต้องอนุญาตให้ตนและพี่สะใภ้ไปหาในทันที ซึ่ง "โจโฉ" ยอมตอบตกลงตามเงื่อนไข

กวนอู

นับตั้งแต่ "กวนอู" อยู่กับ "โจโฉ"  ได้รับการเอาใจมิได้ขาด ทุกสามวันจัดงานเลี้ยงให้ทีหนึ่ง แต่ "กวนอู" มิได้มีใจอยู่กับ "โจโฉ" วันๆก็เฝ้าแต่คิดถึง และสดับตรับฟังข่าวของ "เล่าปี่" จนกระทั่ง "โจโฉ" ได้มอบม้า"เซ็กเธาว์" ให้เพื่อเอาใจ   "กวนอู" ดีใจมากคิดในใจว่าหากได้ข่าวของ "เล่าปี่" ก็จะใช้ม้า "เซ็กเธาว์" เดินทางไปหา "เล่าปี่" ได้เร็วขึ้น  ต่อมาเมื่อ "กวนอู" ได้ข่าวของ "เล่าปี่" จึงได้พาพี่สะใภ้ทั้งสองเดินทางไปหา "เล่าปี่" ทันที   ซึ่ง "โจโฉ" เสียดาย "กวนอู" ยิ่งนัก  มิอาจทัดทานได้ เนื่องจากได้ให้คำมั่นสัญญาไว้แล้ว

กวนอูและม้าเซ็กเธาว์

เมื่อได้พบกัน  "กวนอู" ดีใจมาก แต่ในใจของ "เล่าปี่" ยังเคลือบแคลงสังสัยในตัวของ "กวนอู" จึงได้ถามเพื่อสร้างความมั่นใจที่มีต่อ "กวนอู" ไปว่า เหตุใดจึงเลือกกลับมาอยู่กับตน ทำไม่ไปสวามิภักดิ์กับ "โจโฉ" ซึ่งเป็นผู้มีตำแหน่งถึงอัครเสนาบดีและมีอำนาจเหนือบัลลังก์  หาก "กวนอู" ไปอยู่ด้วยก็จะต้องมียศตำแหน่งที่สำคัญ และมีสุขเสพไม่มีวันสิ้นอย่างแน่นอน  ซึ่ง "กวนอู" ได้ตอบ "เล่าปี่" ว่า "โจโฉ" นั้น ถึงแม้จะชมชอบคนเก่งคนดี และมีความเชี่ยวชาญในตำราพิชัยสงครามก็จริง แต่ "โจโฉ" เป็นบุคคลที่มีเล่ห์เหลี่ยมเจ้าเล่ห์เพทุบาย    ไม่ไว้ใจใคร  โหดเหี้ยม  จัดว่าไม่ใช่คนดี ไม่สมควรอยู่ด้วย

โจโฉ

"นกดีต้องเลือกกิ่งไม้เกาะ"  เป็นคำกล่าวของ "กวนอู" เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ "เล่าปี่" ซึ่งคำกล่าวนี้ ก็เคยได้กล่าวกับ "เล่าปี่" มาแล้วในคราวที่สาบานเป็นพี่น้องกัน  ซึ่งความหมายของคำๆนี้ มีความหมายว่าหากใครก็ตามที่ยอมตนเพื่อรับใช้คนที่เรารู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณธรรม  ประพฤติชั่ว  เป็นคนไม่ดี ถึงแม้จะมีพฤติกรรมภายนอกที่ดูเหมือนว่ากระทำความดี  แต่สำหรับบุคคลประเภทนี้ก็คงต้องมีสิ่งเลวร้ายแอบแฝงอยู่อย่างแน่นอน


หากผู้ใดเลือกพึ่งพาบุคคลประเภทนี้  เพื่อหวังเพียงลาภ ยศ สุข สรรเสริญ บุคคลผู้นั้นก็มิใช่คนดี เพราะการยอมตนเพื่อรับใช้บุคคลประเภทนี้ ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนคนชั่วให้มีพลังทำชั่วมากยิ่งขึ้น ดังนั้นนกที่ดีจะต้องเลือกโผเกาะพีึ่งพิงกิ่งไม้ที่ดี เสมือนการเลือกที่จะรับใช้หรือพึ่งพิงใครก็ต้องพิจารณาให้ดี จะได้ไม่เสียใจภายหลัง ว่าเราได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนคนไม่ดี

ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานเรื่องคนดี มีใจความว่า "ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี  ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย  มิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี  ให้คนดีได้ปกครอง   บ้า่นเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ  ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ท่านนั่นแหละคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์...หาก

ยามใดที่มนุษย์รู้สึกอยากได้อยากมี  หรือไม่อยากได้ไม่อยากมี  สิ้นหวัง ทุกข์ทรมาน  ก็จะคิดถึงและไหว้วอนขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เพื่อขอบารมีช่วยให้สมปราถนา  ซึ่งการไหว้วอนขอพึ่งบารมีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือการหยิบยืมบุญบารมีมาใช้ก่อน  เพราะตนเองไม่หมั่นสั่งสมบุญบารมี  เหมือนกับเราไม่ขยันทำมาหากินเพื่อหารายได้ เงินทองไม่พอใช้จ่าย   จำเป็นต้องหยิบยืมเงินทองของผู้อื่น  เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดไปวันๆ  สุดท้ายเราก็ต้องมีหนี้ล้นพ้นตัว แล้ววันต่อๆไปเราจะทำกันอย่างไร


แต่หากเราอุตสาหะสร้างบุญบารมี   ในแนวทางแห่งพุทธ ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติภาวนา เพื่อสั่งสมบุญบารมีให้กับตนเอง  ก็เสมือนเราสามารถหารายได้เป็นของตนเอง  ไม่ต้องไปหยิบยืมใคร แต่หากจำเป็นต้องหยิบยืมก็เป็นส่วนน้อย  เพราะเงินทองของเราก็มีอยู่บ้่าง และหากมีความเพียรพยายามมากๆ ก็จะมีเงินเหลือเก็บ  เพราะที่เราต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ทุกวันนี้  ก็เพราะเรายังต้องชดใช้หนี้กรรมที่เราก่อไว้ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ  หากเราไม่มีความเพียรเพื่อสร้างบุญบารมีให้กับตนเองบ้าง  ภพชาติต่อไปคงจะต้องรับความทุกข์ระทมอีกไม่รู้เท่าไร    


ดั่งคำกล่าวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (หลวงปู่โต พฺรหฺมรํสี)  ท่านได้ให้สติกับทุกคนเพื่อให้เร่งสั่งสมบุญบารมีเป็นของตนเอง ดังนี้ "ลูกเอ๋ย  ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด  เจ้าจะต้องมีทุนของตนเอง  คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน  เมื่อบารมีเจ้าไม่พอจึงค่อยยืมบารมีคนอื่นมาช่วย  มิฉนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สิ้นในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว ..... เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมาก็ต้องไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว ..... แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ภพหน้า ..... หมั่นสร้างบารมีไว้ .... แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง ..... จงจำไว้นะ .... เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าก็ไม่ได้ ... ครั้นเมื่อถึงเวลา .... ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่ ..... จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า "


สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราท่านกราบไหว้  ในอดีตชาติท่านเหล่านั้นก็เคยมีวิถีชืวิตเช่นเดียวเราๆท่านๆ    แต่ด้วยความพากเพียรพยายามสั่งสมบารมี  ชาติแล้วชาติเล่าภพแล้วภพเล่า จนท่านเหล่านั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เรากราบไหว้และไหว้วอนขอพึ่งบารมีจากท่าน  แม้แต่เราๆท่านๆหากมีความเพียรพยายามและมีจิตแน่วแน่ที่จะสั่งสมบุญบารมีและสร้างแต่คุณงามความดี  ในอนาคตชาติเราท่านก็จะมีผู้คนกราบไว้ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นกัน  แต่สูงสุดของการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือการได้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ซึ่งเป็นสถานภาพสุดท้ายของชาวพุทธที่เปี่ยมด้วยปัญญาถวิลหา


วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา

หลายท่านอาจไม่คุ้นชื่อ  "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา"  และอาจตั้งคำถามกลับว่ามีด้วยหรือ....
วังรพีพัฒน์  ที่ตั้งวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา
แต่หากเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงอาชีวศึกษา (รุ่นเก่า) จะรู้จักเป็นอย่างดี    ทั้งนี้เพราะสถาบันการศึกษาแห่งนี้ถือว่าเป็นสถานศึกษาแห่งแรกที่มีการผลิตครูช่างอุตสาหกรรมเพื่อเป็นครูผู้สอนวิชาชีพช่างในสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน  รวมทั้งการเป็นผู้ฝึกอบรมวิชาชีพให้กับหน่วยงาน องค์กร และสถานประกอบการต่างๆ ให้กับประเทศนี้มาแล้วเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

"วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" ตั้งอยู่บนที่ดิน "วังรพีพัฒน์"  ของ   "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์" ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งกฏหมายไทย เมื่อทรงสิ้นพระชนม์  วังแห่งนี้มีสถานะเป็นโรงเรียนเอกชนชื่อ "โรงเรียนรพีพัฒน์"    ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรม   ได้ขอซื้อต่อเพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างโรงงานผลิตร่ม  จากนั้นจึงพัฒนาเป็นสถานศึกษาผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษา  ดังความเป็นมาต่อไปนี้
  • พ.ศ. ๒๔๙๑  สถาปนาเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา" ในวันที่ ๘ กรกฎาคม  และเริ่มผลิตครูช่างเป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. ๒๔๙๖  กรมอาชีวศึกษาขอซื้อที่ดิน จำนวน ๙ ไร่ ๔๗ ตารางวา   ต่อจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา"  
  • พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้โอนไปสังกัดกรมการฝึกหัดครู และเปิดสอนหลักสูตร "ปกศ. อาชีวศึกษา"
  • พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้โอนกลับมาสังกัดกรมอาชีวศึกษา    และได้รับการยกวิทยฐานะเป็น "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" เปิดทำการสอนในสาขาวิชาช่างอุตสาหกรรม   ผลิตนักศึกษาหลักสูตร  "ปมอ." ๒ปี ชื่อ "ประกาศนียบัตรครูมัธยมอาชีวศึกษา"
  • พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ขยายหลักสูตรจาก ๒ ปี เป็น ๓ ปี    ในหลักสูตร "ปม.วส."  ชื่อ"ประกาศนียบัตรครูมัธยมวิชาชีพชั้นสูง"
  • พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้เพิ่มสอนหลักสูตร "ปวส"    อีกหลักสูตรหนึ่ง     ชื่อ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง"     โดยให้ผู้กำลังศึกษาหลักสูตร "ปม.วส" ที่มีความประสงค์ต้องการวุฒิ  "ปวส."  ต้องลงทะเบียนเพิ่มในภาคฤดูร้อน หลังจากการศึกษาในภาคเรียนที่ ๔  และในปีนี"วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" ได้เข้าร่วมกับสถานศึกษา  ในสังกัดกรมอาชีวศึกษา ๒๘ แห่ง ด้วยแรงผลักดันของนักศึกษาอาชีวศึกษา ที่ต้องการให้อาชีวศึกษาสามารถศึกษาต่อได้ถึงระดับปริญญา    "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" จึงรวมกันกับสถานศึกษาอื่นๆเป็น "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา"  

  • พ.ศ. ๒๕๒๐   มีฐานะเป็นวิทยาเขตเทเวศร์  ของ "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา"
  • พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นปีสุดท้ายที่มีการเรียนการสอนในหลักสูตร "ปม.วส." 
  • พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้เลิกการสอนหลักสูตร "ปวส" ที่มีการเปิดตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อผลิตในระดับปริญญาเพียงอย่างเดียว
  • ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

ปัจจุบันชื่อของ"วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" เริ่มเลือนหาย และนับจากนี้ในเวลาอีก ๑-๒ ปี  การเรียนการสอนวิชาชีพ  ที่มุ่งเน้นทักษะฝีมือช่างก็อาจลดน้อยถอยลงทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตครูช่างจากสถาบันการศึกษาภายใต้  ชื่อ "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา"   จะถึงวัยเกษียณหมดวัยทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้มุ่งเน้นเพื่อบ่มเพาะฝึกฝนศิษย์ด้วยความเข้มงวด  จนศิษย์แห่งสถาบันนี้ มีความเป็นเลิศทั้งด้านความรู้  และทักษะวิชาชีพ  สามารถปฏิบัติงานได้จริง ผสมผสานกับทักษะการถ่ายทอดความรู้  ให้กับศิษย์ด้วยเมตตาและอดทน  ส่งผลให้บังเกิดศิษย์รุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่รุ่นลูกศิษย์   หลานศิษย์ จนถึงเหลนศิษย์ จากผลผลิตที่มีการถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นต่อรุ่นนี้  ทำให้มีการผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพเป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาเหล่านั้นได้แยกย้ายกระจายไปในสถานศึกษาหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันถ่ายทอดความรู้และทักษะ  ส่งผลให้บังเกิดบุคลากรจำนวนมากมายมหาศาล    ร่วมกันพัฒนาประเทศ   ซึ่งเป็นผลจากการผลิตครูช่าง ณ สถาบันแห่งนี้

เพื่อสร้างความทรงจำเก่าๆให้หวลคืนมา  จึงขอฝาก "มาร์ชวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา"  ที่ประพันธ์ทำนองโดย "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" และประพันธ์เนื้อร้องโดย "ครูอร่าม ขาวสะอาด"  ดังนี้

"พวกเราร่วมใจวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา   ตั้งใจหมายว่าจะศึกษาวิชาช่างให้ชำนาญ  เพื่อไปถ่ายวิชาให้เยาวชนไทยพัฒนาการ  รู้คุณค่าวิชาช่างทำทุกอย่างให้ชำนาญ   ผลของงานประเสริญสมใจแดงเลือดหมูคู่กับขาวเด่นไกล  มอบกายใจไว้ให้สถาบัน สองมือนั้นสร้างงานต่อไป  ด้วยอดทนเพื่อผลการณ์ไกล  เราพร้อมใจเพื่อสร้างชาติเอย"

ในอนาคตถึงแม้ว่า "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" ที่มีสัญญาลักษณ์เป็นพระอาจารย์ฤาษี  จะเป็นเพียงอดีตแต่ด้วยคุณงามความดี  ที่ได้สั่งสมบ่มเพาะ  และหยั่งรากลึกทำให้บังเกิดครูช่างที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ถึงแม้เวลาจะผ่านไปเนินนานเพียงใด  ชนรุ่นหลังก็คงกล่าวขานและระลึกถึง  ซึ่งจะเห็นได้จากวันคล้ายวันสถาปนา  ๘ กรกฏาคมของทุกปี  ศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน  จะให้การต้อนรับและชื่นชมศิษย์เก่าที่ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย เดินทางมาร่วมทำบุญ และรำลึกถึงความหลังในอดีต  ดวงตาทุกคู่ของผู้มาเยือนก็ไม่วายที่จะจับจ้องมองดูป้ายไม้ซุงผ่าซีก  ซึ่งถือว่าเป็นอนุสรณ์ชิ้นสุดท้าย ที่มีข้อความจารึกว่า "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา"





วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นาคีมีพิษเพี้ยงสุริโย

นาคีมีพิษเพี้ยงสุริโย เลื้อย บ่ ทำเดโช แช่มช้า  พิษน้อยหยิ่งยโสแมงป่อง ชูแต่หางเองอ้าอวดอ้างฤทธี   เป็นโครงโลกนิิติบทหนึ่ง      ที่เปรียบเทียบพื้นฐานจิตใจของบุคคล    ที่แสดงออกทางกายและวาจาของบุคคลที่อยู่ในสังคมทั่วไป ๒ ประเภท

บุคคลประเภทแรก   เป็นลักษณะของบุคคลที่มีดีหรือมีอำนาจอยู่ในตัว หรือเป็นบุคคล ประเภท "คมในฝัก" เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง มีอำนาจบารมีมากๆ มักไม่แสดงความอวดรู้ แสดงอำนาจหรือความไม่สุภาพออกมาให้ผู้อื่นได้พบเห็น  เปรียบดั่งนาคีหรือพญานาค ที่มีพิษเทียบเท่าพระอาทิตย์ แต่มีลักษณะท่าทางการเลื้อยอย่างแช่มช้า  ไม่แสดงฤทธิอำนาจใดๆแต่ผู้ที่พบเห็นมีความยำเกรง  ซึ่งเราอาจจะสังเกตุได้จากงูที่มีพิษมาก  มักมีการเลื้อยอย่างเชื่องช้า  


บุคคลอีกประเภทหนึ่ง   เป็นลักษณะของบุคคลที่ชอบแสดงความยิ่งใหญ่ หรือแสดงอำนาจต่อผู้อื่น ชอบแสดงความอวดรู้  ทั้งๆที่มีความรู้เพียงเล็กน้อย หรือไม่รู้อะไรเลย บุคคลประเภทนี้มักต้องการแสดงให้ผู้อื่นเกรงกลัว หรือนับถือ   ซึ่งเป็นการชดเชยปมด้อยหรือความต่ำต้อยของตนเอง บุคคลประเภทนี้เปรียบได้กับ "แมงป่อง" ที่มักชูกล้ามให้เห็นเพื่อขู่ให้ผู้อื่นกลัว  แต่พิษของแมงป่องเทียบไม่ได้กับพญานาค หรือแม้แต่งูพิษธรรมดา
ในสังคมปัจจุบันมีบุคคลประเภท "แมงป่องอยู่ทุกวงการ"  ตั้งแต่บุคคลระดับล่างถึงผู้บริหาร  หากเป็นบุคคลในระดับล่างมักจะแสดงอำนาจต่อบุคคลอื่น  ให้ผู้อื่นเกรงกลัว ให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ซึ่งมักจะข่มขู่กับผู้ไม่รู้   เป็นการชดเชยปมด้อยของตนเอง  เช่น เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ของหน่วยราชการ ที่ข่มขู่หรือแสดงวาจาไม่สุภาพต่อผู้มาติดต่อ  เป็นต้น

แต่หากเป็นระดับหัวหน้าหรือระดับบริหาร   หากมีบุคลิกลักษณะแบบ "แมงป่อง" บุคคลในระดับนี้ มีความต้องการให้ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาเกรงกลัว  มักแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวดุร้าย  เพื่อป้องกันตนเองจากการที่ลูกน้องซักถามข้อสงสัยหรือแนวปฏิบัติ   เพราะหากตนเองไม่มีความรู้เพียงพอหรือให้คำตอบลูกน้องไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียหน้า  และทำงานอย่างสบายๆไม่มีใครกวนใจ   แต่ก็ยังมีผู้บริหารอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องการลาภสักการะที่เกิดจากความเกรงกลัวของผู้ใต้บังคับบัญชาเนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้มีคติว่า "สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องเหี้ยน"จึงจะได้ลาภสักการะมาก
การที่เราจะปฏิบัติตนเฉกเช่น "นาคี" ได้  ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีการสั่งสมคุณงามความดี  หมั่นศึกษาหาความรู้มีประสบการณ์จาการทำงานหนัก เป็นตัวอย่างที่ดีต่ออนุชนรุ่นหลัง   เมื่อมีวัยวุฒิและคุณวุฒิเพียงพอ บุคคลในวงงาน หรือบุคคลในสังคมก็จะให้ความเคารพนับถือ ไม่จำเป็นต้องแสดงอำนาจบารมีหรือข่มขู่ให้ผู้อื่นต้องยำเกรง  เพราะคุณงามความดีความสามารถ มิใช่ยกตนเองด้วยตนเอง แต่ต้องให้ผู้อื่นยกให้ เฉกเช่นท่าน "ดร.เอ็มเบรกก้้า" จึงจะเป็นบุคคลประเภท "นาคี" ที่แท้จริง  หากยกตนเองก็เป็นแค่ "แมงป่อง" พิษน้อยๆตัวหนึ่งเท่านั้นเอง