พานิชพล มงคลเจริญ

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ ที่ผมรู้จัก

ปีพ.ศ. ๒๕๓๕   ณ สำนักงานชั่วคราววิทยาลัยการอาชีพไทรน้อย  บริเวณโรงเรียนชุมชนวัดราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ผมได้พบกับเพื่อนผู้บริหารผู้หนึ่งซึ่งเคยอบรมผู้บริหารรุ่นเดียวกัน  หลังจากได้สนทนาพูดคุยกัน   จึงทราบว่ากำลังมาหาที่ดินเพื่อปลูกบ้านไม้เรือนไทยของพ่อตา   ซึ่งถูกเวรคืนจากบริเวณถนนสาทร เมื่อทราบความประสงค์ผมจึงพาไปหาที่ดินจนได้ที่ดินจำนวน ๙ ไร่ อยู่ฝั่งตรงข้ามวิทยาลัยการอาชีพไทรน้อย (วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรีปัจจุบัน)  และหลังจากนั้นประมาณปีเศษบ้านเรือนไทยดังกล่าวก็ถูกรื้อจากถนนสาทร และนำมาปลูกในรูปทรงเดิมด้วยช่างจากจังหวัดเชียงราย    ต่อมาผมจึงรู้ว่าเจ้าของบ้านไม้เรือนไทยหลังนี้ก็คือ ศ.ดร.แนมบุญสิทธิ์  ปรมาจารย์การสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น  ซึ่งบุคลากรในวงการการศึกษารุ่นเก่า และผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษานอกโรงเรียนให้ความเคารพ


หลังจากนั้นมาถือได้ว่าผมเป็นผู้โชคดีที่ได้มีโอกาสเสวนากับท่าน   ในตอนเย็นหลังเลิกงาน  และในวันเสาร์-อาทิตย์     ซึ่งทำให้ทราบว่า ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ พื้นเพท่านเป็นคนอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ถึงแม้วันที่พบท่านมีอายุย่างเข้าปีที่ ๙๐ แล้ว  แต่ความจำและความคิดความอ่านของท่าน   ยังเหมือนคนวัยทำงานดูจากบุคลิกและความคิดเห็นของท่าน แสดงถึงอุดมการแนวทาง  และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านการศึกษาอยู่ตลอดเวลา  ในอดีตที่ผ่านมาท่านได้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนี้

  • ร่วมก่อตั้งสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทยกับ ศ.ดร.สาโรช  บัวศรี , ศ.ดร.ก่อสวัสดิพาณิชย์  และ ศ.เชื้อ  สาริมาน  เป็นต้น  โดยจดทะเบียนสมาคมเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๙๘
  • อาจารย์ใหญ่โรงเรียนส่งเสริมอาชีพก่อสร้างสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้ยกวิทยะฐานะ  เป็นวิทยาลัยการก่อสร้าง ปัจจุบันคือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร  ลาดกระบัง
  • อาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนสารพัดช่างธนบุรี  กรมอาชีวศึกษา
  • หัวหน้ากองส่งเสริมอาชีพเคลื่อนที่  กรมอาชีวศึกษา
  • เป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยประเทศเกาหลี
  • ท่านได้เรียบเรียงตำราการพูดภาษาอังกฤษและพจนานุกรมคำคุณศัพท์  และตำราเรียนพูดภาษาอังกฤษ ๑๐๐๐ คำ ซึ่งหนังสือเล่มนี้  "พล.ต.ต.วิชัย  สังข์ประไพ" ได้ให้เจ้าหน้าที่ในชุดปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็ว (ปะ-ฉะ-ดะ) ท่องคำศัพท์ในหนังสือเล่มนี้ทุกวัน   เผื่อเวลาพบนักท่องเที่ยวจะได้ช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ 
  • นอกจากนั้น ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ ยังได้เรียบเรียงตำราพูด 8 ภาษา  ซึ่งเป็นประโยคง่ายๆที่ใช้ประจำในชีวิตประจำวัน  

ท่านเป็นผู้ริเริ่มและจัดให้มีการจัดตั้ง   หน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองส่งเสริมอาชีพ กรมอาชีวศึกษา   ซึ่งหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่นี้ จะใช้ยานพาหนะพาครูผู้สอน วัสดุอุปกรณ์ ไปสอนวิชาชีพให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันดาร โดยการสนับสนุนด้านยานพาหนะ  วัสดุ อุปกรณ์จากองค์การ "USOM"  ของสหรัฐอเมริกา   ที่ให้บริการและสนับสนุนหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่  จำนวนหลายสิบหน่วย ที่ให้บริการการสอนวิชาชีพทั่วประเทศ ด้วยการเดินทางแยกย้ายไปสอนวิชาชีพทั่วทุกภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเป็นพื้นที่ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกลความเจริญ โดยมีโรงเรียนสารพัดช่างพระนคร ที่ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง   ใกล้แยกแม้นศรี เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน  และนอกจากนั้นยังใช้เป็น "WARE  HOUSE"   สำหรับเป็นสถานที่จัดเก็บและเบิกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ให้กับหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่หน่วยต่างๆ  ที่จะหมุนเวียนเข้ามารายงานผลการสอนโดยครูใหญ่แต่ละหน่วย   โดยจะมีการรายงานผลการปฏิบัติงานทุกครั้งหลังจากการออกหน่วย  ซึ่งในช่วงนี้ครูผู้สอนเองก็ได้มีโอกาสพักผ่อน  ตรวจเช็คสภาพยานพาหนะ  เบิกวัสดุอุปกรณ์  เตรียมการสอน  และรับคำสั่งการสอนในพื้นที่อื่นๆต่อไป    สำหรับการจัดตั้งหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่นี้  ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ได้กล่าวกับผมว่าท่านได้แนวคิดจากการที่ได้เห็นพระภิกษุ แยกย้ายออกบิณฑบาตในตอนเช้าในเส้นทางที่แตกต่างกัน  และกลับเข้าสู่วัดซึ่งเป็นศูนย์กลาง   และออกมาบิณฑบาตใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น  ซึ่งท่านได้กล่าวต่ออีกว่าวิธีการในแบบวิถีพุทธนี้เป็นการเผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด 

จุดเปลี่ยนในชีวิตของท่านที่สำคัญคือ  ในระหว่างที่ท่านทำหน้าที่หัวหน้ากองส่งเสริมอาชีพ  ท่านได้พาผู้เชี่ยวชาญและผู้รู้ด้านวิชาชีพสาขาต่างๆ  ไปเปิดสอนวิชาชีพระยะสั้นให้กับประชาชน  ณ จังหวัดชุมพร  ซึ่งวิชาชีพที่ท่านนำไปสอนในขณะนั้น  เช่น  การถัดเนคไท  และการทำตรายาง  เป็นต้น  โดยจะเปิดสอนให้ฟรี ทำให้ประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาเรียนกันเป็นจำนวนมาก   ถึงแม้จะมีการจัดหลายครั้งคนก็ยังไม่ลดน้อยลง แต่กลับมีผู้คนจากท้องที่อื่นเดินทางเข้ามาเรียนอีกเป็นจำนวนมาก  จึงทำให้บุคคลที่ทำงานหน่วยงานเดียวกันมีความอิจฉา  เกรงว่าท่านจะมีผลงานและได้รับตำแหน่งสำคัญ  จึงให้ร้ายท่านว่าท่านกำลังซ่องสุมผู้คน และมีการกระทำตนเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ทางการสมัยนั้นประกาศจับตัวท่าน แต่ก็ได้มีผู้หวังดีช่วยเหลือท่านจนได้ออกนอกประเทศ    และไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านระยะหนึ่ง  แล้วจึงเดินทางต่อไปยังประเทศเกาหลี  เมื่อมหาวิทยาลัยในเกาหลีทราบข่าวจึงได้เชิญให้ท่านเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย  ท่านอาศัยอยู่ในเกาหลีเป็นเวลานานหลายปี  หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางไปอาศัยต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ระยะหนึ่ง  แล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทยในวัย 80 เศษ      

จากการที่ผมได้มีโอกาสเสวนากับ ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์  ทำให้ทราบว่าผู้ที่จะเป็นปูชนียบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรเคารพนั้น  จะไม่ถือตัวมีความเป็นกันเอง พร้อมที่จะให้ความรู้  มีความคิดเชิงบวก และมีเมตตาสูง สังเกตุเวลาที่ผมแสดงความคิดเห็น หรือเล่าเรื่องบางอย่างให้ท่านฟัง ท่านจะสงบนิ่งและตั้งใจฟัง  ตาจ้องมองผู้พูดตลอดเวลา  ไม่ขัดจังหวะการพูด  รอจนพูดจบท่านจึงจะพูดพร้อมกับการให้ข้อแนะนำด้วยแนวคิดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง   ท่านมีความเป็นปราชญ์เต็มตัว ท่านไม่หยุดที่จะเรียนรู้ หากมีสิ่งใดที่ท่านสงสัยท่านจะสอบถามทันที  สิ่งที่ท่านพกติดตัวตลอดเวลาก็คือสมุดเล่มเล็กๆและปากกาลูกลื่น ซึ่งท่านจะใช้จดสาระสำคัญหรือสิ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดของท่าน  ท่านได้ดำรงตนและยึดถือความมีหัวใจเป็นนักปราชญ์ คือ สุ-จิ-ปุ-ลิ  ตลอดเวลา

ท่านมีความเป็นห่วงว่าเด็กไทยเรา มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศน้อย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ท่านเรียกภาษาอังกฤษว่าเป็น "ภาษาของโลกเรา"  ผมเคยได้เรียนถามท่านว่าเหตุใดคนไทยเราเรียนภาษาอังกฤษมาก็หลายปีเรียนจนจบถึงระดับปริญญาก็ยังไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดว่าสาเหตุที่ประเทศเราไม่ประสบความสำเร็จในการสอนภาษาอังกฤษ หรือไม่สามารถสอนให้สามารถสื่อสารได้นั้น สาเหตุก็เนื่องจากหลักสูตรการสอนและครูผู้สอนของเราสอนแต่ไวยากรณ์ ซึ่งผิดหลักธรรมชาติ   การเรียนรู้ภาษาต้องเรียนทักษะการใช้ภาษาในการสื่อสารก่อน เหมือนการที่เราพูดภาษาไทยได้  เราก็ต้องหัดพูดมาก่อน จากนั้นจึงมาเรียนการอ่านเขียน แต่การเรียนภาษาอังกฤษของไทย  ครูจะสอนอ่านเขียนหรือไวยากรณ์ก่อน โดยไม่สนใจการสอนวิธีการพูด   กอรปกับคนไทยเราเป็นคนขี้อาย  การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยจึงไม่สามารถอยู่ในระดับที่จะสื่อสารกับชาวต่างประเทศได้

ศ.ดร.แนม  บุญสิทธิ์  เคยกล่าวกับผมว่า  หากเราได้ครูผู้สอนในชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย  มาจากผู้ที่สำเร็จวิชาชีพสายตรง  การเรียนการสอนในช่วงชั้นดังกล่าวก็จะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากผู้ที่จบวิชาชีพสายตรง  เช่นผู้ได้วุฒิทางวิทยาศาสตร์  (วทบ.)  หรือผู้ที่ได้วุฒิทางอักษรศาสตร์ (อบ.)   จะได้รับการศึกษาอบรมและเรียนรู้เนื้อหาวิชาชีพในสาขานั้นๆอย่างเข้มข้น  ดังนั้นหากรับเข้ามาเป็นครูก็เพียงแต่ต่อยอดวิชาครูให้ก็จะสามารถสอนนักเรียนได้แล้ว  ที่สำคัญครูเหล่านี้จะสามารถสอนให้นักเรียนมีความรู้ในศาสตร์นั้นๆได้ลึกซึ้งกว่าผู้ที่จบวิชาชีพครู  เนื่องจากผู้ที่จบสายครูจะต้องเรียนวิชาชีพครูจำนวนมาก ทำให้การเรียนในวิชาชีพหลักมีจำนวนน้อย  ซึ่งท่านได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า หากเปรียบเทียบความรู้ซึ้งในศาสตร์ "ภาษาอังกฤษ" ระหว่างผู้ที่จบ "ครุศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ)" กับผู้ที่จบ "อักษรศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ)" ผู้ใดจะมีความรู้ภาษาอังกฤษมากกว่ากัน

สำหรับการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา  ท่านได้ให้ทัศนะว่าการศึกษาด้านอาชีพเพื่อไปประกอบอาชีพ หรือการให้ผู้เรียนได้มีความรู้และทักษะจริงๆนั้น   สถานศึกษาควรจัดให้มีการเรียนทีละวิชา  จากวิชาพื้นฐานไปหาวิชาชีพขั้นที่สูงขึ้น  เช่นการเรียนวิชาการติดตั้งระบบไฟฟ้า  ก็ควรเรียนรายวิชาการเดินสายไฟฟ้าในอาคารก่อน  เมื่อเรียนจบจึงเรียนรายวิชาการปักเสาพาดสาย จากนั้นจึงเรียนรายวิชาการติดตั้งระบบไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งก็จะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ และมีโอกาสได้ฝึกทักษะอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง นอกจากนั้นผู้เรียน ยังสามารถนำความรู้และทักษะที่เรียนจบ ในแต่ละช่วง ไปประกอบอาชีพได้อีก  ลักษณะการเรียนเช่นนี้คือการเรียนในหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น หรือที่เรียกว่า "Block release" หรือ "ฺBlock course" ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เรียนในหลักสูตรดังกล่าว จะมีความรู้และทักษะพร้อมที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ทันที   แต่ในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในระบบ   โดยเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สถานศึกษาอาชีวศึกษาแทบทั้งหมดจะจัดตารางเรียนในลักษณะการเรียนวิชาสามัญ  โดยจะมีการเรียนการสอนในรายวิชานั้นๆ สัปดาห์ละ 3-6 ชั่วโมง หากผู้เรียนจะเรียนวิชานี้อีกก็ต้องรอเรียนสัปดาห์ต่อไป จึงทำให้ความรู้และทักษะของผู้เรียนไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับนี้  น่าจะมีความรู้และทักษะไม่เพียงพอที่จะออกไปประกอบอาชีพได้

ถึงแม้วันนี้ ศ.ดร.แนม  บุญสิทธิ์  ซึ่งเป็นที่รักเคารพของผม และของอีกหลายๆคน  จะล่วงลับไปแล้วตามกาลเวลาและสังขาร  แต่สิ่งที่ท่านฝากไว้กับวงการการศึกษาคงไม่วันลบเลือนไปได้   ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับปรมาจารย์ด้านการศึกษา  ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ความดี  ความเมตตา  แต่ไม่มีโอกาสได้พัฒนาความเจริญให้กับวงการศึกษาไทยได้มากเท่าที่ควร สาเหตุก็เนื่องจากการให้ร้ายกันเองในวงงานราชการ จนเราต้องสูญเสียผู้คนที่มีความรู้ความสามารถไปคนแล้วคนเล่า ซึ่ง ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์   ได้เคยกล่าวกับผมว่า "คนไทยเราควรแข่งกันทำความดีแข่งกันพัฒนามิใช่ว่าจะใช้ความอิจฉาของตนมาทำร้ายและกดคนอื่นให้ต่ำกว่าตน ผลก็คือประเทศเราก็จะมีแต่ตกต่ำ ไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้ทัดเทียมกับอารยะประเทศได้"