พานิชพล มงคลเจริญ

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา

หลายท่านอาจไม่คุ้นชื่อ  "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา"  และอาจตั้งคำถามกลับว่ามีด้วยหรือ....
วังรพีพัฒน์  ที่ตั้งวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา
แต่หากเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงอาชีวศึกษา (รุ่นเก่า) จะรู้จักเป็นอย่างดี    ทั้งนี้เพราะสถาบันการศึกษาแห่งนี้ถือว่าเป็นสถานศึกษาแห่งแรกที่มีการผลิตครูช่างอุตสาหกรรมเพื่อเป็นครูผู้สอนวิชาชีพช่างในสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน  รวมทั้งการเป็นผู้ฝึกอบรมวิชาชีพให้กับหน่วยงาน องค์กร และสถานประกอบการต่างๆ ให้กับประเทศนี้มาแล้วเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

"วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" ตั้งอยู่บนที่ดิน "วังรพีพัฒน์"  ของ   "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์" ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งกฏหมายไทย เมื่อทรงสิ้นพระชนม์  วังแห่งนี้มีสถานะเป็นโรงเรียนเอกชนชื่อ "โรงเรียนรพีพัฒน์"    ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรม   ได้ขอซื้อต่อเพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างโรงงานผลิตร่ม  จากนั้นจึงพัฒนาเป็นสถานศึกษาผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษา  ดังความเป็นมาต่อไปนี้
  • พ.ศ. ๒๔๙๑  สถาปนาเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา" ในวันที่ ๘ กรกฎาคม  และเริ่มผลิตครูช่างเป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. ๒๔๙๖  กรมอาชีวศึกษาขอซื้อที่ดิน จำนวน ๙ ไร่ ๔๗ ตารางวา   ต่อจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา"  
  • พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้โอนไปสังกัดกรมการฝึกหัดครู และเปิดสอนหลักสูตร "ปกศ. อาชีวศึกษา"
  • พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้โอนกลับมาสังกัดกรมอาชีวศึกษา    และได้รับการยกวิทยฐานะเป็น "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" เปิดทำการสอนในสาขาวิชาช่างอุตสาหกรรม   ผลิตนักศึกษาหลักสูตร  "ปมอ." ๒ปี ชื่อ "ประกาศนียบัตรครูมัธยมอาชีวศึกษา"
  • พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ขยายหลักสูตรจาก ๒ ปี เป็น ๓ ปี    ในหลักสูตร "ปม.วส."  ชื่อ"ประกาศนียบัตรครูมัธยมวิชาชีพชั้นสูง"
  • พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้เพิ่มสอนหลักสูตร "ปวส"    อีกหลักสูตรหนึ่ง     ชื่อ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง"     โดยให้ผู้กำลังศึกษาหลักสูตร "ปม.วส" ที่มีความประสงค์ต้องการวุฒิ  "ปวส."  ต้องลงทะเบียนเพิ่มในภาคฤดูร้อน หลังจากการศึกษาในภาคเรียนที่ ๔  และในปีนี"วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" ได้เข้าร่วมกับสถานศึกษา  ในสังกัดกรมอาชีวศึกษา ๒๘ แห่ง ด้วยแรงผลักดันของนักศึกษาอาชีวศึกษา ที่ต้องการให้อาชีวศึกษาสามารถศึกษาต่อได้ถึงระดับปริญญา    "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" จึงรวมกันกับสถานศึกษาอื่นๆเป็น "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา"  

  • พ.ศ. ๒๕๒๐   มีฐานะเป็นวิทยาเขตเทเวศร์  ของ "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา"
  • พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นปีสุดท้ายที่มีการเรียนการสอนในหลักสูตร "ปม.วส." 
  • พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้เลิกการสอนหลักสูตร "ปวส" ที่มีการเปิดตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อผลิตในระดับปริญญาเพียงอย่างเดียว
  • ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

ปัจจุบันชื่อของ"วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" เริ่มเลือนหาย และนับจากนี้ในเวลาอีก ๑-๒ ปี  การเรียนการสอนวิชาชีพ  ที่มุ่งเน้นทักษะฝีมือช่างก็อาจลดน้อยถอยลงทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตครูช่างจากสถาบันการศึกษาภายใต้  ชื่อ "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา"   จะถึงวัยเกษียณหมดวัยทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้มุ่งเน้นเพื่อบ่มเพาะฝึกฝนศิษย์ด้วยความเข้มงวด  จนศิษย์แห่งสถาบันนี้ มีความเป็นเลิศทั้งด้านความรู้  และทักษะวิชาชีพ  สามารถปฏิบัติงานได้จริง ผสมผสานกับทักษะการถ่ายทอดความรู้  ให้กับศิษย์ด้วยเมตตาและอดทน  ส่งผลให้บังเกิดศิษย์รุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่รุ่นลูกศิษย์   หลานศิษย์ จนถึงเหลนศิษย์ จากผลผลิตที่มีการถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นต่อรุ่นนี้  ทำให้มีการผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพเป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาเหล่านั้นได้แยกย้ายกระจายไปในสถานศึกษาหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันถ่ายทอดความรู้และทักษะ  ส่งผลให้บังเกิดบุคลากรจำนวนมากมายมหาศาล    ร่วมกันพัฒนาประเทศ   ซึ่งเป็นผลจากการผลิตครูช่าง ณ สถาบันแห่งนี้

เพื่อสร้างความทรงจำเก่าๆให้หวลคืนมา  จึงขอฝาก "มาร์ชวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา"  ที่ประพันธ์ทำนองโดย "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" และประพันธ์เนื้อร้องโดย "ครูอร่าม ขาวสะอาด"  ดังนี้

"พวกเราร่วมใจวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา   ตั้งใจหมายว่าจะศึกษาวิชาช่างให้ชำนาญ  เพื่อไปถ่ายวิชาให้เยาวชนไทยพัฒนาการ  รู้คุณค่าวิชาช่างทำทุกอย่างให้ชำนาญ   ผลของงานประเสริญสมใจแดงเลือดหมูคู่กับขาวเด่นไกล  มอบกายใจไว้ให้สถาบัน สองมือนั้นสร้างงานต่อไป  ด้วยอดทนเพื่อผลการณ์ไกล  เราพร้อมใจเพื่อสร้างชาติเอย"

ในอนาคตถึงแม้ว่า "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา" ที่มีสัญญาลักษณ์เป็นพระอาจารย์ฤาษี  จะเป็นเพียงอดีตแต่ด้วยคุณงามความดี  ที่ได้สั่งสมบ่มเพาะ  และหยั่งรากลึกทำให้บังเกิดครูช่างที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ถึงแม้เวลาจะผ่านไปเนินนานเพียงใด  ชนรุ่นหลังก็คงกล่าวขานและระลึกถึง  ซึ่งจะเห็นได้จากวันคล้ายวันสถาปนา  ๘ กรกฏาคมของทุกปี  ศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน  จะให้การต้อนรับและชื่นชมศิษย์เก่าที่ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย เดินทางมาร่วมทำบุญ และรำลึกถึงความหลังในอดีต  ดวงตาทุกคู่ของผู้มาเยือนก็ไม่วายที่จะจับจ้องมองดูป้ายไม้ซุงผ่าซีก  ซึ่งถือว่าเป็นอนุสรณ์ชิ้นสุดท้าย ที่มีข้อความจารึกว่า "วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา"