พานิชพล มงคลเจริญ

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

การใช้เครื่องปรับอากาศอย่างประหยัดและคุ้มค่า

สมัยก่อนตอนผมยังเด็ก บ้านใครมีตู้เย็นถือว่ามีฐานะ และมักจะตั้งตู้เย็นให้ผู้คนภายนอกบ้านได้เห็น แต่ในปัจจุบันสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ กลับกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดไม่ได้ ในการดำรงชีวิต บ้านใดไม่มีตู้เย็น ไม่มีเครื่องซักผ้า หรือไม่มีโทรทัศน์ จะเป็นเรื่องแปลก โดยเฉพาะในสังคมเมือง

จากการทำลายล้างธรรมชาติของมนุนย์ ทำให้อากาศมีสภาพที่ร้อนอบอ้าว แปรปรวน เนื่องจากเกิดสภาวะโลกร้อน ในขณะที่เครื่องปรับอากาศจากสิ่งที่ฟุ่มเฟือย กลับกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีต้องใช้กันแทบทุกบ้าน ทุกอาคาร และจะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นคงจะหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องปรับอากาศยากเสียแล้ว ทางที่ดีเรามาช่วยกันหาทางใช้ บำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ ให้มีการใช้งานอย่างคุ้มค่า และประหยัดกันดีกว่า

เครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถือได้ว่าสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้าในการทำงานค่อนข้างสูง แต่ความไม่เข้าใจ ตลอดจนการใช้ที่ไม่ถูกวิธีก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าสูงขึ้นอีกมากโดยไม่จำเป็น ซึ่งวิธีการต่อไปนี้เป็นหนทางที่จะช่วยให้การใช้เครื่องปรับอากาศ มีการใช้กระแสไฟฟ้าที่ลดลง ขณะที่อายุการใช้งานนานขึ้น ดังนี้

ขั้นแรกต้องเลือกเครื่องปรับอากาศไห้มีขนาดการทำความเย็น พอเหมาะพอดีกับขนาดห้อง ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป เพราะเครื่องขนาดใหญ่จะสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้าสูง และจะมีการตัดต่อบ่อยทำให้อายุการใช้งานสั้น และหากเลือกเครื่องที่มีขนาดเล็กจนเกินไป เครื่องจะทำงานตลอดเวลา และไม่มีการตัดการทำงาน เป็นการสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า และอายุการใช้งานของเครื่องก็จะสั้นลงเช่นกัน หลักง่ายๆในการคำนวนหาขนาดเครื่องปรับอากาศ ก็ให้ใช้ ตัวคูณสำเร็จคูณเข้ากับพื้นที่ของห้องปรับอากาศ โดยมีเงื่อนไขว่าห้องปรับอากาศนั้นจะต้องมีความสูงไม่เิกิน 3.5 เมตร หากเป็นบ้านพักอาศัย ก็คูณด้วย 600-700 หากเป็นสำนักงานก็คูณด้วย 800-900 ยกตัวอย่างเช่น ห้องปรับอากาศขนาด 4 เ้มตรคูณ4 เมตร ก็จะคำนวนเป็นพื้นที่ได้ 16 ตารางเมตร และให้นำพื้นที่ที่คำนวนได้คูณเข้ากับตัวคูณ หากเป็นบ้านพักอาศัยก็คูณด้วย600 - 700 ก็จะได้ 9,600 - 11,200 บีทียู/ชม. (12,000บีทียู/ชม = 1 ตัน) เราจะก็สามารถเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ ได้ใกล้เคียงหรือตรงกับการปรับอากาศในห้องนั้นๆ การใช้ตัวคูณสำเร็จนี้ จะใช้กับเครื่องปรับอากาศได้ไม่เกิน 3 ตัน

ขั้นที่ 2 เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขั้นตอนการเลือกเครื่อง เพราะขั้นตอนนี้จะมีผลต่อการประหยัดพลังงานอย่างมาก แต่ในบ้านเรามักจะถูกละเลยและไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งขั้นตอนนี้ ก็คือขั้นของการเตรียมห้องปรับอากาศ หากสามารถเตรียมห้องและบุฉนวนให้ได้เหมือนตู้เย็น ห้องปรับอากาศห้องนี้ก็จะประหยัดพลังงานได้อย่างมากมาย เพราะความร้อนจะเล็ดลอดเข้ามาภายในห้องได้ยาก เครื่องปรับอากาศเมือทำความเย็นได้ระดับ เครื่องก็จะตัดการทำงาน พร้อมกับการพักเครื่องเป็นระยะเวลายาวนานกว่าปกติ กระแสไฟฟ้ามีความสิ้นเปลืองน้อย เครื่องมีโอกาสพักการทำงานนานขึ้น อายุการใช้งานก็จะยืนยาว สำหรับการบุฉนวนห้องนั้น หากเป็นผนัง 2 ชั้น ก็ให้ติดตั้งฉนวนให้แทรกอยู่ระหว่างผนัง แต่วิธีการป้องกันความร้อนดีที่สุดก็คือการติดตั้งฉนวนนอกผนังอาคาร แต่หลังคาหรือฝ้าเพดานถือได้ว่าความร้อนสามารถเข้ามาภายในห้องปรับอากาศได้มากที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวัสดุฉนวนที่มีให้เลือกหลากหลาย เพื่อกั้นความร้อนที่จะลงมาจากหลังคา ทางที่ดีที่สุดคือวางฉนวนบนโครงหลังคา และปูหลังคาทับ หรืออาจจะติดตั้งฝ้าเพดานที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนความร้อน หรือใช้เทคโนโลยีของสีทาหลังคารุ่นใหม่ ที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนและสะท้อนความร้อนได้

ขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นของการใช้งาน ต้องไม่ปิดเปิดห้องบ่อย ต้องไม่นำของร้อนหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนไปไว้ในห้อง ต้องไม่เปิดพัดลมดูดอากาศขณะใช้เครื่องปรับอากาศ แต่ควรเปิดขณะไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ หากเป็นห้องนอนควรตั้งเวลาให้เครื่องตัดการทำงานก่อนเวลาตื่นนอนสัก 15 - 30 นาที นอกจากนั้นควรทำความสะอาดห้องอยูู่เป็นประจำเพื่อลดภาระในการกรองฝุ่นของเครื่องปรับอากาศ และอย่าพยามทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายภายในห้อง เช่นการปัดที่นอน การสบัดผ้าห่มเป็นต้น นอกจากนั้นการมีเฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้าในห้องมากมายก็เป็นภาระต่อเครื่องปรับอากาศเช่นกัน

ขั้นตอนที่ 4 เป็นขั้นตอนของการดูแลและบำรุงรักษา ซึ่งเครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องมีการดูแลและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ หากขาดการดูแล เครื่องก็จะสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า และมีอายุการใช้งานสั้นลง การดูแลและบำรุงรักษาสามารถกระทำได้ง่ายๆ ก็คือการถอดฟิลเตอร์หรือแผงกรองฝุ่นออกมาล้าง หากเป็นฟิลเตอร์สารสังเคราะห์ประเภทพลาสติก เมื่อถอดออกมาจากเครื่องก็ให้ใช้น้ำแรงๆ โดยให้ฉีดด้านตรงข้่ามกับด้านที่รับฝุ่น อย่าใช้แปรงใดๆขัด หรือนำไปตากแดด เพราะอาจฉีดขาดและบิดเสียรูปได้ จากนั้น ให้สลัดน้ำออกและใช้ลมเป่าให้แห้ง ส่วนคอยล์ร้อนเราไม่สามารถถอดออกมาล้างเหมือนกับช่างได้ แต่ให้ใช้วิธีล้างแห้งแทน โดยการใช้แปรงทางมะพร้าว หรือแปรงพลาสติกที่มีด้ามจับ เปิดเครื่องปรับอากาศให้ทำงาน จะสังเกตุเห็นว่าจะมีลมดูดเข้าเครื่องด้านที่เป็นครีบของคอยล์ร้อน ตรงจุดนี้จะเป็นจุดที่มีฝุ่นจับมาก และจะเป็นอุปสรรค์สำคัญในการระบายความร้อนของเครื่อง ทำให้เครื่องปรับอากาศไม่เย็น และสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า ดังนั้นให้เราใช้แปรงนี้ปัดขึ้นลงตามร่องครีบของคอยล์ร้อน จะสังเกตุเห็นฝุ่นฟุ้งกระจายออกด้านหน้าเครื่องของคอยล์ร้อนจำนวนมาก เพียงแค่นี้เครื่องปรับอากาศของเราก็สะอาดได้ อย่างง่ายๆ

หากสามารถปฏิบัติได้เพียงสิ่งที่ได้กล่าวมาเพียงเท่านี้ ก็จะเป็นการลดการสิ้นเปลืองพลังของชาติลงได้มากมายมหาศาล และจะมีผลดีต่อผู้ใช้ตลอดจนเครื่องปรับอากาศเอง สิ่งที่บ้านเรามักมองข้ามไปก็คือการเตรียมห้องปรับอากาศ โดยมักจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศเผื่อขนาดให้ใหญไว้ก่อน หากห้องไม่เย็นก็เพิ่มเครื่องปรับอากาศเข้าไปอีก ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุของความร้อนที่เข้ามาภายในห้อง จึงจะเป็นการแก้ปัญหาตามหลักพุทธ