พานิชพล มงคลเจริญ

วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายพลังภายนอกเสริมพลังตน

ในอดีตผู้ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยกย่องของคนทั้งปวง มักใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะตัวที่เหนือและโดดเด่นกว่าผู้อื่นเป็นเครื่องมือในการสร้างความสำเร็จ และผู้คนรอบข้างก็มักให้การยอมรับและชื่นชม ยุคถัดมาผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องมีทีมงานที่เข้มแข็ง มีสมัครพรรคพวกที่มีเป้าหมายเดียวกัน ทำงานในลักษณะร่วมด้วยช่วยกัน งานนั้นๆก็ประสบความสำเร็จได้


ยุคปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีความสามารถเฉพาะตัวสูง หรืออาจมีทีมงานที่เข็มแข็ง ก็อาจประสบความสำเร็จได้ด้วยความยากลำบาก หรืออาจล้มเหลวได้ แต่ถ้าหากผู้ใดมีมนุษยสัมพันธ์ดี คบหาพูดคุย และสมาคมกับคนได้หลากหลายอาชีพ หลากหลายวงการ ก็จะมีเพื่อนและผู้คนรู้จักมาก ในบางครั้งการทำงานอาจมีปัญหาอุปสรรค์ ก็สามารถพูดคุยขอคำปรึกษา และอาจขอความช่วยเหลือได้ เพราะคนเมื่อรู้จักกันก็เหมือนเป็นญาติกัน ดังคำพระที่ว่า "การรู้จักกันเป็นญาติอย่างหนึ่ง" ดังนั้นผู้คนในสังคมยุคนี้จึงต้องพยายามเข้าร่วมกิจกรรมเครืือข่าย เพื่อหาเพื่อนใหม่ต่างอาชีพ มีแนวความคิดใหม่ๆ เพราะการมีเพื่อนในที่ทำงานเดียวกัน แนวคิดอาจจะน่าเบื่อหน่าย คุยกันก็ต้องระมัดระวังคำพูด ให้ความเห็นได้ไม่เต็มที่ ไม่รู้เป็นพวกใครกันบ้าง และการพูดคุยก็ไม่พ้นปัญหาจากการทำงาน หรือนินทาว่าร้ายหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน


การสร้างเครือข่ายของผู้คนยุคปัจจบัน จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่ให้ประโยชน์หลากหลาย ได้ทั้งความผ่อนคลาย ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งความสำเร็จของงาน กิจกรรมการสร้างเครือข่ายจึงนับวันจะทวีจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มในรูปสมาคม ชมรม มูลนิธิ สังคมออนไลน์ต่างๆ  การอบรมหลักสูตรต่างๆ โดยเฉพาะหลักสูตรระดับผู้นำหน่วยงาน หรือแม้แต่การเข้าการเรียนหลังจากทำงานแล้ว โดยเฉพาะในระดับปริญญาโทขึ้นไป ซึ่งจะเห็นว่าบางคนได้ป.โท 2-3 ใบ เพราะความต้องการในการสร้างเครือข่ายนั่นเอง


พลังแห่งเครือข่ายเป็นพลังที่ไม่มีขีดจำกัด สามารถสร้างความสำเร็จในสิ่งที่ตนตั้งใจไว้ได้ แต่เครือข่ายจะมีพลังมากหรือน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองเป็นสำคัญ ความเสียสละ การช่วยเหลือเกื้อกูล และการร่วมมือในหมู่มวลสมาชิกด้วยความจริงใจ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะเสริมพลังตนให้แผ่กว้างและทรงพลัง


วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

"แรงศรัทธา" พลังอันยิ่งใหญ่สรรสร้่างได้ทุกสรรพสิ่ง

ศรัทธาเป็นความเชื่อของบุคคลต่อสิ่งต่างๆ สำหรับพุทธศาสนาจะกล่าวถึง "ศรัทธา 4" คือ เชื่่อกฏแห่งกรรม เชื่อผลแห่งกรรม เชื่อว่าสรรพสัตว์มีกรรมของตนเอง และความเชื่อในการตร้สรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งศรัทธาที่เป็นคุณสมบัติประจำของชาวพุทธนี้เอง ก่อให้เกิดการปฏิบัติในการให้ทาน การรักษาศีล และการปฏิบัติภาวนา/สมาธิ เพื่อให้ตนพ้นทุกข์ก้าวสู่สายธารแห่งธรรม นำจิตวิญญานให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร

การให้ทานเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธา ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด "ทาน"ที่ผู้ให้จะได้รับอานิสงส์มากที่สุด จะต้องประกอบด้วย 3 กาล คือ มีเจตนาที่จะให้ ขณะให้มีเจตนาและเต็มใจให้ และ ปิติยินดีในการให้ของตน ซึ่งอานิสงส์แห่งทานนี้ จะส่งผลบุญต่อผู้ยินดีร่วมอนุโทนาด้วย ถึงแม้ผู้นั้นจะไม่มีเจตนาแต่แรก และไม่ได้ใช้ทรัพย์สินหรือสิ่งของใดๆของตนให้ทาน แต่ปิติยินดีในการให้ทานของผู้อื่น ก็จะได้รับบุญเช่นกัน ซึ่งผลบุญนี้จะเทียบเคียงได้กับการให้ทานในกาลที่ 3

คำว่า "ทาน" สำหรับชาวพุทธ เป็นการให้ที่เกิดจากศรัทธา หากการให้นั้นได้พิจารณาร่วมกับปัญญา ถือได้ว่าเป็นการให้อย่างชาญฉลาด อานิสงส์ก็จะตกอยู่กับทุกฝ่าย การทำนุบำรุงพุทธศาสนาของชาวพุทธเรา มักมุ่งเน้นในการสร้างสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเห็นได้จากมีวัดวาอารามเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเชื่อว่าการสร้างวัดหรือสร้างพระเป็นการสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่ จนเราลืมไปว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธเราควรให้การสนับสนุน ก็คือการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งคงไม่มีองค์กรใดจะทำได้ดีกว่าสถาบันศาสนา

ปัจจุบันชาวพุทธเราปล่อยให้นักการศึกษา ซึ่งได้รับศึกษาและได้รับความรู้ทางโลกเพียงด้านเดียว จัดการศึกษาเพียงลำพัง  จึงทำให้การศึกษาสนองเพียงกิเลสของมนุษย์ให้เพิ่มพูนมากขึ้น จะเห็นได้จากพฤติกรรมการแก่งแย่งกันเพื่อความก้าวหน้าของตนเองและพวกพร้อง โดยการปลูกฝังพฤติกรรมที่เอาเปรียบให้กับลูกหลานของตนเอง ด้วยการวิ่งฝากเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเสียเงินเสียทองเท่าไรไม่ว่า ขอให้ลูกหลานของฉันได้เข้าเรียน   เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ฝากให้เข้าทำงานอีก และเมื่อได้งานทำแล้ว ยังฝากให้มีตำแหน่งสำคัญๆในองค์กรนั้นๆอีก   ดังนั้นลูกหลานของคนที่มีฐานะยากจน ที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนดีก็คงเป็นได้แค่เพียงผู้ตามที่มีผู้ด้อยปัญญาและด้อยคุณธรรมเป็นผู้นำ

แต่หากวัดทุกวัดในประเทศ พร้อมใจกันแปรสภาพเพื่อรับบทบาทในการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ โดยใช้ปัจจัยจากแรงศรัทธาของญาติโยม ปรับเปลี่ยนจากการสร้างสิ่งก่อสร้างมาเป็นการสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยแต่ละวัดต้องดำเนินการตั้งโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนเอกชนภายใต้มูลนิธิของวัดนั้นๆ และใช้ทรัพยากรผู้สอน ซึ่งอาจจะเป็นครูผู้เกษียณอายุแล้ว หรือพระภิกษุที่มีความรู้ ตลอดจนคนในชุมชน และปราญ์ชาวบ้าน ช่วยกันสอนสั่งบุตรหลาน เพื่อเป็นกำลังของชาติที่ดีมีคุณภาพในอนาคต สำหรับโรงเรียนของหน่วยราชการที่ใช้พื้นที่ของวัดในในการจัดการศึกษา  คงต้องขอคืนมาให้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิของวัด  และร่วมกันระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา เพราะนับวันการจัดการศึกษาด้วยการนำพาของนักการศึกษาเหล่านี้ ไม่สามารถสร้างคนให้เป็นมนุษย์ได้โดยสมบูรณ์

หากจะสร้างประชากรที่ดีและมีคุณภาพให้เกิดขึ้นในอนาคต ชาวพุทธเราคงจะต้องหันมาช่วยกันสนับสนุนวัด เพื่อให้เป็นสถาบันหลักในการจัดการศึกษา ซึ่งจะเห็นได้จากความสำเร็จของโรงเรียนภายใต้มูลนิธินักบุญในศาสนาคริสต์  ซึ่งมีผู้นิยมเรียนเป็นจำนวนมากและอาจนิยมเรียนมากกว่าโรงเรียนที่ภาครัฐจัดการศึกษาอีก   ซึ่งถึงแม้ว่าโรงเรียนเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงก็ตาม    แต่หากจะให้โรงเรียนภายใต้มูลนิธิของวัดมีผู้นิยมเข้าเรียน อันดับแรกต้องจัดการศึกษามุ่งสู่คุณธรรมและความดีตามหลักพุทธ    อันดับสองก็คือภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับที่สื่อสารได้ อันดับสามคือ ภาษาจีน และภาษาของประเทศกลุมอาเซียน อันดับสี่ เน้นการสอนวิชา คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิชาสังคมศึกษา วิชาความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และมนุษยชาติ และวิชาที่ว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  เป็นต้น

ตราบใดที่เราไว้วางใจและปล่อยให้ภาครัฐจัดการศึกษาเพียงลำพัง ความล้มเหลวของการสร้างคนก็จะมาเยือน เพราะกลไกที่ขับเคลื่อนการศึกษาของภาครัฐ   มิได้มุ่งที่ประโยชน์ของผู้เรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่หากมุ่งประโยชน์ด้านความก้าวหน้า    ฐานะทางสังคม  ฐานะทางการเงิน    จึงเป็นการลดทอนคุณภาพและคุณค่าของการศึกษาให้ด้อยลงไป  และนับวันการศึกษาจะลงลึกสู่ความล้มเหลว ที่คาดหวังไม่ได้เลยว่าประชากรในอนาคตเราจะสามารถพึ่งพาเขาเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

หลวงพ่อแห่งวัดดอนจั่น ผู้ประทานโอกาส ให้กับผู้ด้อยโอกาส

ถ้้าจะกล่าวถึงเยาวชนที่ด้อยโอกาส และไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา ปัจจุบันยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มเด็กที่ครอบครัวแตกแยก ยากจน กำพร้า ผู้ปกครองติดเชื้อ HIV ติดยาเสพติด เด็กชนเผ่าต่างๆ เด็กที่ไม่มีหลักฐานการเกิด ตลอดจนเด็กที่พ่อแม่ได้รับโทษจำคุก หากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการเหลียวแลสังคม ในอนาคตนอกจากเราจะไม่ได้ประชากรที่มีคุณภาพแล้ว เด็กเหล่านี้ก็อาจก่อปัญหา และสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมได้


"อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน" เป็นบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 ที่น่าจะตรงกับจิตเมตตาของพระครูปราโมทย์ประชานุกูล หรือพระอธิการอานันท์ อานนฺโท เจ้าอาวาสแห่งวัดดอนจั่น ต.ท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เห็นปัญหาและมีความสงสารอยากให้เด็กเหล่านี้ ได้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน จนมีความรู้เพียงพอที่จะช่วยตนเอง ช่วยครอบครัว ช่วยสังคม ช่วยประเทศชาติ และช่วยมนุษยชาติได้ในที่สุด

วัดดอนจั่น เป็นวัดเก่า่แก่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 "หลวงพ่ออานันท์" หรือ "หลวงลุง" ของเด็กๆ ได้ให้ที่ภายในวัดตั้งโรงเรียนวัดดอนจั่น รับเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆเข้าเรียน นอกจากนั้นยังจัดทำหอพักแยกชาย - หญิง มีอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ ทุกอย่างให้เปล่าหมด ทั้งหนังสือเรียน สมุด เครื่องเขียน ตลอดจนอุปกรณ์ในการเรียนทุกอย่าง นอกจากนั้นยังมีการขยายโอกาสการศึกษา ด้านอาชีวศึกษา ในระดับ ปวช. และปวส. เนื่องจาก "หลวงพ่อ" ท่านเห็นว่าการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษา จะนำไปสู่การมีอาชีพในอนาคตที่มั่นคง สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับ ป.ตรี ท่านก็มีเมตตาให้ทุนโดยร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาให้เด็กที่ไฝ่เรียนได้มีโอกาสศึกษาต่อ


หากใครได้มีโอกาสไปกราบ "หลวงพ่อ" แห่งวัดดอนจั่น เราก็จะเห็นดวงตาที่ฉายแววแห่งเมตตา ท่านจะให้ข้อคิดด้านการศึกษา ที่นักการศึกษาต้องได้อาย สิ่งที่ท่านต้องการให้ถวายก็คือ "ใข่" จำนวนไม่จำกัด เพราะเป็นอาหารหลักที่ต้องใช้เลี้ยงเด็กจำนวนกว่า 500 คน วันละ 3 มื้อ ไม่มีวันหยุด ภาระนี้ถึงแม้จะหนักแต่"หลวงพ่อ" ก็เต็มใจ และชื่นใจ ที่เด็กๆเหล่านี้อาจไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเลย สามารถก้าวออกสู่สังคมด้วยความมุ่งมั่น มีความเจริญก้าวหน้า และมีความสุขอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิ












ประกาศนียบัตรช่างฝีมือ ระดับการศึกษาที่ถูกลืม

ในตลาดแรงงานมีผู้ที่ใช้วิชาชีพช่างสาขาต่างๆเลี้ยงชีพ โดยเริ่มตั้งแต่ช่างไร้ฝีมือ ช่างกึ่งฝีมือ ช่างฝีมือ ช่างเทคนิค และวิศวกร โดยบุคคลกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวทันกับการแข่งขันทั้งสังคมภูมิภาค และสังคมโลก โดยมีสถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ บางแห่งช่วยกันผลิตออกมารับใช้สังคม


ในอดีตได้มีการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ในหลักสูตรประกาศนียบัตร์ช่างฝีมือ (ปชม.) โดยรับผู้สำเร็จการศึกษาตอนต้น สอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษา โดยใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปี มีสาขาวิชาให้เลือกหลากหลาย เนื่้้อหาวิชาเน้นภาคปฏิบัติการ โดยการนำภาคปฏิบัติการทั้งหมดของวิชาชีพนั้นๆมาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น สาขาวิชาช่างไฟฟ้า ก็มีการฝึกการเดินสายภายใน/ภายนอกอาคาร การฝึกติดตั้งระบบไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม การพันหม้อแปลงไฟฟ้า การพันมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งเฟสเดียวและ 3 เฟส ตลอดจนการฝึกติดตั้งระบบควบคุมเครื่องจักรกลในโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับทฤษฏีก็เรียนรู้เพียงทฤษฏีหัวงาน (ทฤษฏีที่ใช้เพื่อการปฏิบัติ) ส่วนวิชาที่นอกเหนือจากวิชาชีพ ก็มีเพียงวิชาการประกอบธุรกิจเพียงวิชาเดียว การจัดตารางเรียนก็เป็นแบบจัดให้เรียนจบเป็นวิชาๆไป (ฺBlock release) ผู้เรียนได้มีเวลาและมีโอกาสฝึกทักษะอย่างเต็มที่ และที่สำคัญคือมีการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง วันละ 6 ชั่วโมง


ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่ ออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว และทำงานในสถานประกอบการ หลายคนได้เป็นช่างใหญ่ ผู้ที่จบวิศวกรยังต้องขอคำปรึกษา ความสำเร็จในการปฏิบัติงานและการยอมรับในความสามารถจากผู้ประกอบการ ย่อมแสดงให้เห็นถึงผลดีและประโยชน์ของการจัดการศึกษาในหลักสูตรนี้ นอกจากนั้นในสมัยต่อมายังได้มีการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรช่างฝีมือ ให้มีการเรียนเป็น 3 ระดับ คือปชม.1 ปชม.2 และปชม.3 โดยแต่ละระดับใช้เวลาเรียน 1 ปี ซึ่งแต่ละระดับเป็นหลักสูตรที่ขาดจากกัน เรียนจบเป็นปีๆไป แต่มีความเข้มของเนื้อหาวิชาที่ใช้ทักษะที่สูงขึ้นตามระดับชั้น


หลักสูตร ปชม. เป็นหลักสูตรที่เอื้อต่อการผลิตกำลังคนระดับฝีมือ ที่สามารถพัฒนาให้เป็นกำลังคนในระดับเทคนิคได้ เป็นการผลิตกำลังคนที่สามารถตอบโจทย์ ผู้เรียนที่ไม่ถนัดด้านวิชาการ แต่มีความถนัดในการใช้ทักษะฝีมือในการทำงาน สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนในระดับนี้ได้อย่างดียิ่ง และที่สำคัญผู้เรียนไม่ต้องเสียเวลามากมายในการศึกษา ซึ่งหากเป็นหลักสูตร ปวช. ก็ต้องใช้เวลาเรียนถึง 3 ปี บางคนออกก่อน 3 ปี ก็ไม่ได้อะไรเลย ปีหนึ่งๆมีนักเรียนระดับ ปวช. ถูกออกกลางคันมากมาย และที่น่าสนใจคือสาเหตุจาการออกเพราะระดับคะแนนไม่ถึง และเมื่อดูให้ลึกลงไปอีกก็ทราบว่าส่วนใหญ่ถูกออกเพราะคะแนน ในวิชาสามัญเป็นต้นเหตุ แสดงว่าการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาวิชาชีพในปัจจุบัน ให้ความสำคัญวิชาสามัญมากกว่าวิชาชีพ นักเรียนที่มุ่งเข็มเรียนด้านวิชาชีพ ก็เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงวิชาสามัญที่เข้มข้น แต่เหมือนหนีเสือปะจระเข้ บางทีหนักกว่าเรียนในโรงเรียนขั้นพื้นฐานอีก


น่าเสียดายที่หลักสูตรดีๆอย่างนี้ มีการจัดดำเนินการเพียง 5 รุ่น เท่านั้น ขณะที่หลักสูตร ปชม.1 ปชม.2 และปชม.3 ยังไม่ทันได้ไช้ หลักสูตร ปชม. ก็ถูกยกเลิก ในขณะที่ผู้เรียน สถานประกอบการต่างๆยังต้องการให้เปิด แต่นโยบายเหนือเหตุผล มีการสั่งให้หยุดผลิตหลักสูตรนี้ และให้หันไปผลิตหลักสูตร ปวช. แต่เพียงอย่างเดียว สังคมอาจจะต้องกลับมาทบทวนสิ่งดีๆที่หายหกตกหล่นไป และนำมาปัดฝุ่นใหม่อาจทำให้สถานการณ์การขาดกำลังคนระดับช่างฝีมือดีขึ้นก็เป็นได้

ชีวิตที่สุขสงบ ลดทุกข์ให้กับตนเอง และผู้อื่น

คำพระท่านได้กล่าวถึงเคร็ดลับในการครองชีวิตการเป็นมนุษย์ให้มีความสุขไว้ว่า "หากยังไม่แต่งงานก็ไม่ต้องแต่ง หากแต่งงานแล้วก็อย่าเลิก แต่ถ้าจำเป็นต้องเลิกก็อย่าแต่งงงานใหม่ "

"หากยังไม่แต่งงานก็ไม่ต้องแต่ง" คนที่ยังเป็นโสดจะไม่มีพันธะผูกพันอะไร ไม่มีห่วง มีภาระต่างๆน้อย และเห็นว่าคนที่แต่งงานแล้วย่อมมีภาระและความรับผิดชอบตามมาอีกมาก ต้องมีความห่วงใยซึ่งกันและกัน หากอีกฝ่ายประสบภัย หรือต้องพลัดพรากกัน ก็จะเกิดความทุกข์ทบเท่าทวี

"หากแต่งงานแล้วก็อย่าเลิก" คนที่แต่งงานกันแล้ว ก็ถือว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องใช้ความอดทนสูง เอื้ออาทรต่อกัน แต่หากต้องเลิกกัน อาจมีสาเหตุจากความขัดแย้ง หรือความเห็นไม่ตรงกัน หรือเรื่องอื่นๆที่ไม่สามารถทนกันได้ ชีวิตครอบครัวล่มสลาย บอบช้ำกันทั้งคู่ ส่งผลให้เกิดความทุกข์กับลูกหลาน และเครือญาติ ดังนั้นผู้ที่ตกลงใชัชีวิตคู่กันแล้ว ก็อย่าเลิกกัน เพราะเท่ากับเป็นการก่อกรรมให้กับตนเอง และผู้อื่น

"หากเลิกก็อย่าแต่งงานใหม่" อย่างไรก็ตามการใช้ชีวิตคู่ บางครั้งก็ไม่สามารถประคับประคองให้ตลอดรอดฝั่งไปได้ ยิ่งในยุคปัจจุบัน ผู้ที่ต้องเลิกร้างห่างกันมีเป็นจำนวนมาก เพราะการแต่งงาน มักใช้ฐานของ SEX ฐานะทางสังคม ฐานะทางการเงิน และหน้าตา เป็นสำคัญ ไม่ได้ใช้ความเข้าใจ ความเอื้ออาทรที่มีต่อกันเป็นฐานของการมีชีวิตคู่ ในสมัยก่อนพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยพิจารณา ว่าหนุ่มสาวคู่นี้เหมาะสมกันหรือไม่ โดยพิจารณาจากความขยันแข็งในการงาน เป็นคนดีมีศีลธรรม (ผู้ชายจะต้องบวชเรียนแล้ว) ผ่ายหญิงก็จะต้องมีฝีมือการปรุงอาหาร (เสน่ห์ปลายจวักผัวรักจนวันตาย) ชีวิตครอบครัวก็อยู่กันยืนยาว แต่หากจำเป็นต้องแยกทางกัน ก็ไม่ควรแต่งงานใหม่ เพราะคนที่มีครอบครัว แต่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ อาจมีข้อบกพร่องที่ไม่เหมาะกับการมีชีวิตคู่ แต่ถ้าหากแต่งงานใหม่ก็จะพบกับปัญหาเดิมๆ และก็อาจจะเลิกกันได้อีก ก่อให้เกิดความทุกข์อยู่ร่ำไปไม่จบไม่สิ้น

จากคำสอนในแนวพุทธนี้ จะเห็นได้ว่าเน้นการใช้ชีวิตที่ผาสุก ลดทุกข์ให้กับตนเอง และป้องกันทุกข์ที่จะเกิดกับผู้อื่น ไม่มีบาปติดตัว มุ่งสู่สายธารแห่งธรรม ก้าวสู่ความหลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวง มีชีวิตที่สุขสงบทั้งโลกนี้ และโลกหน้า

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

พระครูประชาธรรมนาถ (หลวงพ่อแฉ่ง) เทพเจ้าของชาวราษฎร์นิยม

ความตั้งใจของพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่เห็นคุณค่าของการศึกษา หวังให้ลูกหลานและอนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนหนังสือ และศึกษาหาความรู้ โดยไม่ต้องเดินทางไปเรียนในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด เนื่องจากตำบลราษฎร์นิยม ในสมัยนั้นเป็นจุดที่ห่างไกล และการเดินทางยากลำบาก โดยที่ลักษณะพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรีจะมีลักษณะคล้ายหัวช้างชูงวง อำเภอไทรน้อยก็คือส่วนของงวง ปลายงวงก็คือจุดที่ตั้งของตำบลราษฎร์นิยม อันเป็นที่ตั้งของวัดราษฎร์นิยมซึ่งเป็นวัดมอญ สายธรรมยุต โดยมีเขตติดต่อกับ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดอยุธยา ในสมัยที่ยังไม่มีถนนสายกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี ชาวบ้านก็เดินทางโดยใช้ลำคลองเป็นหลัก
พระครูประชาธรรมนาถ หรือ หลวงพ่อแฉ่งของชาวราษฎร์นิยม ซึ่งบรรดาลูกศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือ ต่างเชื่อมั่น และศรัทธาในวัตถุมงคล ที่มีอานุภาพด้านเมตตา แคล้วคลาด โดยเฉพาะยันต์หลวงพ่อแฉ่ง ผู้ใดประสบอุบัติเหตุจะไม่เป็นอันตรายใดๆ ดังนั้นจึงมีลูกศิษย์ลูกหาเดินทางมารับผ้ายันต์ รับวัตถุมงคล และนิมนต์ให้ท่านช่วยเจิมรถให้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นขณะที่ท่านอาพาธเป็นเนื้องอก 3 จุดภายในร่า่งกายต้องผ่าตัดออก หมอที่รักษาหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า เมื่อวางยาสลบท่านแล้ว และลงมีดเพื่อผ่าตัด ปรากฏว่ากดมีดอย่างไรก็ไม่เข้า จึงต้องจุดธูปบอกท่านว่าจะมารักษาไม่ได้มาทำอันตราย จึงทำให้การผ่าตัดดำเนินการได้ เมื่อลูกศิษย์เดินทางไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาลท่านก็บอกทุกคนว่าท่านอายุ 78 แล้ว ปรากฏว่างวดนั้นออก 78 ข้างล่าง ลูกศิษย์ท่านถูกกันถ้วนหน้า และเมื่อท่านกลับมาที่วัดเพื่อพักฟื้น ใครไปเยี่ยมท่าน ท่านก็บอกว่าท่านยังอายุ 78 อยู่ ปรากฏว่างวดนั้นออก 78 ข้างบน คนที่มากราบไหว้ท่านก็ถูกกันอีก


"หลวงพ่อแฉ่ง" ท่านมีแต่ให้และให้ด้วยเมตตา ท่านเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาโดยตลอดตั้งแต่ครั้งบวชเป็นเณร มีความเรียบง่าย ไม่เคยแสดงว่าท่านมีดีอะไร คนใกล้ชิดและลูกศิษย์เท่านั้นที่รู้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ท่านได้ละสังขารจากพวกเราไป ในวันที่ 9 กันยายน 2538 ด้วยอาการสงบ สร้างความเศร้าโศกแก่ลูกศิษย์  ผู้ที่เคารพนับถือ ตลอดจนสาธุชนทั่วไป แต่หากท่านครองสังขารได้ถึงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557 นี้  ท่านก็จะมีอายุครบ 100 ปี


ความเมตตาของ"หลวงพ่อแฉ่ง"มีให้กับทุกคน แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานของท่านอย่างยั่งยืน ก็คือการให้การศึกษา ท่านมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะให้เกิดสถานศึกษาตั้งอยู่ใกล้กับวัดราษฎร์นิยม ครบทั้ง 3 ระดับ คือประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ซึ่งท่านเห็นว่าลูกหลานของท่านไม่ต้องเดินทางไปเรียนไกลๆ เรียนครบทั้ง 3 แห่งทำงานได้เลย จากความมุ่งมั่น และบารมีของ "หลวง พ่อ" ส่งผลให้เกิดโรงเรียนวัดราษฎร์นิยม (อนุบาล-ป.6) โรงเรียนมัธยมวัดราษฎร์นิยม (ม.1-ม.6) วิทยาลัยการอาชีพไทรน้อย (ปวช.-ปวส.) ปัจจุบันยกวิทยะฐานะเป็นวิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี


ความมุ่งมั่นตั้งใจของ "หลวงพ่อแฉ่ง" ดลบันดาลให้เกิดสถานศึกษา 3 ประเภท 3 แห่ง ณ วัดราษฎร์นิยม ได้ตามใจหวัง สมกับสมญานาม "เทพเจ้าของชาวราษฎร์นิยม" ท่านได้กล่าวกับผู้ใกล้ชิดในขณะที่วิทยาลัยการอาชีพไทรน้อย สร้างแล้วเสร็จ "โรงเรียน 3 โรง ของฉันเสร็จแล้ว ตอนนี้ฉันจะเป็นอะไรก็ไม่ห่วง"


ปัจจุบันถึงแม้จะไม่มี "หลวงพ่อแฉ่ง" แล้ว แต่สถานศึกษาทั้ง 3 โรง ก็ยังทำหน้าที่ผลิตผู้คนที่มีคุณภาพสู่สังคม หากนับวันเวลาของการสร้างวิทยาลัยการอาชีพไทรน้อยถึงวันนี้ก็ 18 ปีแล้ว ลูกหลานของ"หลวงพ่อ" ก็ได้ทยอยออกไปรับใช้สังคมไปแล้วเป็นจำนวนมาก น่าชื่นใจแทน "หลวงพ่อ" ที่ท่านได้วางรากฐานอนาคตที่สดใสสร้างความก้าวหน้าให้กับอนุชนรุ่นหลังอย่างไม่จบสิ้น สิ่งที่ "หลวงพ่อ" ได้มอบให้ไว้มีคุณค่ามากเหลือเกิน ลูกหลานทุกคนขอจะจดจำไว้ตลอดไป


ในปี 2557 เป็นวันครบรอบที่ "หลวงพ่อแฉ่ง"