พานิชพล มงคลเจริญ

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

"สัตยาไส" ต้นแบบโรงเรียนคุณธรรม

คุณธรรมของผู้คนในสังคมปัจจุบัน นับวันจะลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก ซึ่งสถาบันที่จะต้องทำหน้าที่ผลิตคนดีมีคุณธรรม ก็คือ "บวร" บ้าน (สถาบันครอบครัว) วัด (สถาบันศาสนา) และ โรงเรียน (สถาบันการศึกษา) ซึ่งสถาบันทั้ง 3 นี้ หากผนึกกำลังกันได้ คนดีก็ย่อมจะถูกผลิตออกสู่สังคมได้อย่างแน่นอนและยั่งยืน ขณะที่ "โรงเรียน" เป็นสถาบันที่เด็กต้องใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด ดังนั้นหากเรานำความปราถนาดีของครอบครัว แนวทางการจัดการเรียนรู้ของศาสนา และการดูแลเอาใจให้ความรู้ของโรงเรียน มาผนวกเข้ากับการจัดการศึกษาและกิจกรรมในโรงเรียน ก็ย่อมจะเกิดความสำเร็จในการสร้างคนดีที่มีคุณธรรมให้กับสังคมได้อย่างแน่นนอน


"โรงเรียนสัตยาไส" ถือได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบที่ดียิ่ง ในการฝึกฝนให้เยาวชนของชาติ ก้าวสู่สมาชิกที่มีคุณธรรมของสังคมได้ โดยใช้ความรักและความปราถนาดีของครอบครัว แนวทางการจัดการศึกษาโดยใช้วิถีพุทธ และความตั้งใจดูแลสั่งสอนศิษย์ของโรงเรียน ผู้ที่จะสมัครเข้าโรงเรียนนี้ค่อนข้างยาก ประการแรกคือรับจำกัดจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้สัมพันธ์กับครูผู้สอนที่มัอยู่ประมาณ 50 คน เนื่องจากครูเหล่านี้จะทำหน้าที่สอน จัดกิจกรรม และดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นการคัดเลือกก็จะมีการสัมภาษณ์ผู้ปกครองก่อน และจะไม่รับเข้าเรียนหากผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานเป็นคนเก่ง


"เราขอขอบพระคุณคุณพ่อคุณแม่ผู้ให้ชีวิตเรามา เราขอขอบพระคุณคุณครูผู้อบรมสั่งสอนและธรรมชาติผู้ให้อาหารกับเรา เราขอตั้งใจรับประทานอาหารนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ และรับใช้ช่วยเหลือทุกคนด้วยความรัก ความเสียสละ และอ่อนน้อมถ่อมตน" เป็นคำกล่าวขอบคุณ และปฏิญานตนก่อนที่นักเรียนทุกคนจะรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็ก สำหรับอาหารทุกมื่อจะไม่มีเนื้อสัตว์ เพื่อสอนให้ไม่มีจิตใจที่จะเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น นอกจากนั้นพืชผัก หรือแม้กระทั่งข้าวก็ปลูกกินกันเองภายในโรงเรียน


การดูแลนักเรียนจะให้นักเรียนรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องอย่างใกล้ชิด โดยมีครูคอยดูแลอีกชั้นหนึ่ง นักเรียนทุกคนจะตื่น 05.00 น. เพื่อสวดมนต์ เรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว และฟังนิทานคุณธรรมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การเรียนการสอน ณ โรงเรียนแห่งนี้จะใช้หลัก 3 H คือ "Head" คือการใช้หัวหรือสมอง "Heart" คือการทำด้วยใจ "Hand" คือการลงมือทำ ซึ่งทั้ง 3 H จะต้องสัมพันธ์และสอดคล้องกัน โดยหลักที่ว่าเน้นให้คิดดีหรือคิดบวกก่อน ผ่านจิตใจที่มั่นคงแน่วแน่ ถ่ายทอดสู่การกระทำที่ดี


สำหรับผลการเรียนของนักเรียนโรงเรียนสัตยาไสจะอยู่ในระดับดี โดยเฉพาะนักเรียนในชั้นม.ปลาย สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการได้รับการฝึกฝนจนมีสมาธิอยู่ในขั้นดี นอกจากนั้นนักเรียนเหล่านี้ยังมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีอีกด้วย เนื่องจากมีครูชาวต่างประเทศแวะเวียนมาให้ความรู้อยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นมีการบูรณาการคุณธรรมจริยธรรมและคำสอนทางศาสนาเข้ากับการเรียนการสอนทุกๆรายวิชา


โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนราษฎร์ มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ในจังหวัดลพบุรี นักเรียนไม่มีค่าใช้จ่าย รายได้ของโรงเรียนจะได้จากเงินบริจาคผ่านมูลนิธิสัตยาไส น่าชื่นชมและขอขอบพระคุณ ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นอกจากจะเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะผู้ออกแบบกลไกในการลงจอดยานไวกิ้งบนดาวอังคาร ในขณะที่ทำงานกับองค์การนาซา ท่านผู้นี้ก็ยังเป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมา ถือได้ว่าท่านมีส่วนผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับประเทศชาติและสังคมโลก 


ผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาน่าจะหันมามอง และนำวิธีการไปใช้เป็นแบบอย่างในการจัดการศึกษาของชาติ ไม่ต้องเสียเวลาไปศึกษาดูงานที่ไหนไกลๆให้เปลืองงบประมาณ ประเทศเรามีของดีอยู่แล้ว ควรนำไปใช้เป็นแบบอย่างในโรงเรียนต่างๆ คนดีศรีสังคมก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน


วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โปรแกรมศูนย์สำหรับคนหางานและสถานประกอบการที่ต้องการคน

การสมัครงานในอดีตและปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้วิธีประกาศรับสมัคร พร้อมกับแจ้งคุณสมบัติที่ต้องการ ผู้ทีีประสงค์จะสมัครเข้าทำงานก็จะเดินทางไป กรอกใบสมัคร สอบคัดเลือก และกลับไปรอฟังผลที่บ้าน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีขั้นตอนที่ความยุ่งยาก เสียเวลาทั้งผู้ต้องการทำงาน และผู้ต้องการรับคนเข้าทำงาน นอกจากนั้นสถานประกอบการที่ประสงค์จะรับคนเข้าทำงาน อาจไม่สามารถคัดเลือกผู้สมัครงานที่มีความสามารถอย่างแท้จริงได้ เนื่องจากการประกาศรับสมัครอาจอยู่ในวงจำกัด กลุ่มเป้าหมายอาจได้รับข่าวสารไม่ทั่วถึง ดังนั้นความหลากหลายและจำนวนคนที่เข้ามาให้คัดเลือกอาจมีไม่มาก หรือเป็นผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติตามต้องการ

การรับสมัครงานที่ดีขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งก็คือ การจัดวันนัดพบแรงงาน ซึ่งเป็นการนัดหมายจัดกิจกรรม ให้สถานประกอบการที่ต้องการรับคนเข้าทำงาน มีการแสดงผลงาน ความก้าวหน้า และผลิตภัณฑ์ ส่วนผู้ที่ต้องการมีงานทำก็เลือกสถานประกอบการที่ตนสนใจ และสมัครเพื่อให้สถานประกอบการนั้นพิจารณา วิธีนี้ผู้จัดงานจะทำการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ดังนั้นก็จะทราบข่าวกันได้ในวงกว้าง แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย และเสียเวลาทั้งผู้ประกอบการและผู้ต้องการงานทำ

วิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการจัดหางาน คือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีการใช้โปรแกรมบันทึกข้อมูลของสถานประกอบการด้านต่างๆ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นรายละเอียดความต้องการรับคนเข้าทำงาน และอีกส่วนหนึ่งก็คือการบันทึกข้อมูลรายละเอียด เช่น วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ความสามารถพิเศษ และระดับเงินเดือนที่ต้องการ เป็นต้น ดังนั้นทั้งสถานประกอบการ และผู้ต้องการงานทำ ต่างก็สามารถหาข้อมูลของแต่ละฝ่ายได้ และเมื่อสนใจหรือตกลงใจกันได้ ก็สามารถแจ้งผ่านทางโปรแกรมศูนย์กำลังคนนี้ได้ ทำให้ไม่เสียเวลา ไม่มีค่าใช้จ่าย สถานประกอบการก็มีโอกาสเลือกคนได้หลากหลาย และที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ ผู้ต้องการมีงานทำก็สามารถเลือกสถานประกอบการที่มีการกำหนดคุณสมบัติตรงกับความสามารถของตนได้เช่นกัน

ปัจจุบันศูนย์กำลังคนนี้ได้ขับเคลื่อนโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีหน่วยย่อยเป็นสถานศึกษาในสังกัด โดยนักเรียน-นักศึกษาของแต่ละสถานศึกษา จะบันทึกข้อมูลและรายละเอียดต่างๆของทุกคนลงในโปรแกรม ขณะเดียวกัน สนง.คณะกรรมการการอาชีวศึกษา ก็จะรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดของสถานประกอบการลงในโปรแกรมนี้เช่นกัน แต่เนื่องจากโปรแกรมนี้ต้องมีการปรับข้อมูลอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีการใส่ข้อมูลของสถานศึกษาลงไปในโปรแกรมด้วย เพื่อช่วยตรวจสอบความถูกต้องของผู้ที่ต้องการทำงานและของสถานประกอบการ ศูนย์ดังกล่าวนี้ชื่อว่า "ศูนย์กำลังคนอาชีวศึกษา" (www.v-cop.net)

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเติมเต็มด้วยการศึกษานอกระบบ

มนุษย์มีการรับรู้และเรียนรู้อยู่ตราบที่ยังมีชีวิตอยู่ การอยู่ในบ้านดู TV. การมาทำงาน การเดินดูของหรือผลิตภัณฑ์ในร้านค้า และสิ่งต่างๆอีกมากมายที่เราได้พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สิ่งที่ได้พบเห็นได้สัมผ้ส ด้วยอวัยวะรับรู้ทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) นี้ ก็คือความรู้ที่เราได้รู้อย่างไม่รู้ตัวนั่นเอง



นอกจากนั้นการที่เราเข้ารับการอบรม การศึกษาดูงาน การฝึกเป็นช่างตามร้านซ่อม การเรียนรู้ด้วยตนเอง

จากสื่อต่างๆ หรือการที่เราได้เรียนรู้จากทุกสิ่ง ล้วนเป็นการศึกษาที่ไม่อยู่ในระบบโรงเรียน ซึ่งนักการศึกษาได้แบ่งระบบการศึกษาออกเป็น 3 ระบบ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non - Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education)



ในสมัยที่ยังมีการใช้การศึกษาภาคบังคับเพียงแค่ชั้นประถมศึกษา การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ประชาชนจะให้ความสนใจสูงมาก เพราะสิ่งนี้เป็นหนทางที่ก้าวสู่การมีอาชีพในอนาคต โดยใช้เวลาไม่มากในการเรียนรู้ แต่อาจจะต้องไปหาประสบการณ์จนเกิดความชำนาญ



เริ่มแรกการศึกษานอกระบบ ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองการศึกษา กรมอาชีวศึกษา ได้รวบรวบผู้ที่มีความรู้ทางวิชาชีพในสาขาต่างๆ เพื่อเดินทางไปฝึกอาชีพ โดยเริ่มที่จังหวัดชุมพร ประชาชนที่ทราบข่าวได้ให้ความสนใจและเดินทางมาฝึกอาชีพจำนวนมากจนเกินคาด อาชีพที่มีผุ้คนนิยมเรียนและให้ความสนใจมาก คือ การถัดเน็คไท และการทำตรายาง ผลจากการตอบรับนี้เอง จึงเท่ากับเป็นการจุดประกายการศึกษาที่ไม่ใช่การเรียนในโรงเรียน และการสอนในวิชาชีพสั้นๆนี้ก็ได้รับการกล่าวขาน และเป็นที่นิยมของประชาชนเพิ่มขึ้นมาโดยลำดับ สาเหตุเพราะการเรียนในลักษณะนี้ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาอันสั้น สามารถนำไปประกอบอาชีพได้



ต่อมากรมอาชีวศึกษาเห็นว่าการฝึกอาชีพระยะสั้นในลักษณะนี้ได้ผลดี จึงจัดตั้งหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ ด้วยคำแนะนำของ ศ.ดร.แนม บุญสิทธิ์ โดยให้มีการจัดรถนำอุปกรณ์ ครูผู้สอน และมีครูใหญ่ประจำหน่วยเคลื่อนที่ 1 คน เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการแก้ปัญหา และเป็นผู้สอนด้วย รถ 1 คัน จะมีผู้ร่วมเดินทางประมาณ 3 - 5 คน เดินทางไปทำการสอนวิชาชีพให้กับประชาชนในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศ สำหรับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสอน ตลอดจนพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง ก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรของสหประชาชาติ โดยมีศูนย์กลางแจกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ ณ โรงเรียนสารพัดช่างพระนคร (อยู่บริเวณวัดสระเกศ) โดยรถเคลื่อนที่ทุกคันเมื่อเสร็จภารกิจจะต้องกลับมาที่ศูนย์ฯ เพื่อรายงานผล รับแนวทางการทำงาน และรับเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อออกเดินทางไปฝึกอาชีพตามพื้นที่เป้าหมาย



ปัจจุบันการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้น ไม่ได้มีการเคลื่อนที่เหมือนแต่ก่อน แต่ได้ตั้งเป็นสถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษา ให้บริการสอนวิชาชีพระยะสั้นๆที่มีความหลากหลายกว่าสมัยก่อนมาก หน่วยงานที่มาจัดก็มีมากมาย เช่นวิทยาลัยสารพัดช่าง สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สถานศึกษาจากสำนักงานการศึกษานอกระบบโรงเรียน และสถานศึกษาของเอกชน เป็นต้น



แนวโน้วผู้สนใจเข้าเรียนในปัจจุบัน มีหลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น ต้องการมีอาชีพ ต้องการเปลี่ยนอาชีพ ต้องการมีอาชีพที่สอง ต้องการมีอาชีพสำรอง ต้องการต่อยอดหรือพัฒนาอาชีพเดิม ต้องการมีเพื่อน และเพื่อเป็นงานอดิเรก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามผู้เรียนที่มุ่งเข้ามาเรียนทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว หรือเป็นผู้เกษียณอายุ ผู้เรียนวัยรุ่นมีน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากการให้ความสำคัญและมีขยายโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษา และเมื่อเขาเหล่านั้นสำเร็จชั้นมัธยมต่างก็มุ่งหน้าเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ปัจจุบันทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะเรียนวิชาชีพระยะสั้นเหมือนแต่ก่อน ทำให้บ้านเราขาดช่างฝีมือระดับล่างและระดับกลาง ในอนาคตช่างฝีมือในระดับดังกล่าวคงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำอย่างแน่นอน



ทางแก้ไขผู้ปกครองควรสนับสนุนให้บุตรหลานได้เข้ามาเรียน วิชาชีพระยะสั้น เพื่อเติมเต็มความรู้ และให้มีจิตรักในอาชีพ นอกจากนั้นยังทำให้เด็กรู้ถึงความถนัดหรือความชอบของตน เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคต ค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิชาชีพระยะสั้นโดยเฉพาะวิทยาลัยสารพัดช่างถูกมาก เพียงชัั่วโมงละ 1 บาท ปกติหลักสูตรหนึ่งๆจะใช้เวลาเรียนเพียง 30 - 150 ชั่วโมง รายวิชาชีพมีให้เลือกเป็น 100 รายวิชา ผู้ปกครองอาจเรียนรายวิชาเดียวกัน หรือคนละรายวิชากับลูกหลานก็ได้ ควรเลือกเวลาเรียนช่วง17.00 - 20.00 น. โดยผู้ปกครองเดินทางออกมาจากที่ทำงาน ลูกหลานเดินทางออกมาจากโรงเรียนมาพบกันที่วิทยาลัยฯ เพื่อเรียนวิชาชีพ 20.00 น. กลับบ้านพร้อมกัน สร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว ทุกคนได้ความรู้ได้ประโยชน์ และเป็นการปูทางการประกอบอาชีพให้กับบุตรหลานของเราอีกด้วย



วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาเพื่ออะไร เพื่อใคร

การจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนขั้นพื้นฐาน จะมีการแบ่งเป็นระดับ สำหรับระบบการศึกษาในบ้านเราปัจจุบัน จะใช้ระบบ 6 - 3 - 3 ซึ่งหมายถึงเรียนในขั้นประถมศึกษา 6 ปี เรียนในชั้นมัธยมต้น 3 ปี และเรียนในชั้นมัธยมปลายอีก 3ปี หลังจากนั้นเป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ศึกษา 2 ปี ได้ปวส. หรืออนุปริญญา ศึกษา 4 ปี ได้ปริญญาตรี ศึกษาอีก 2 - 3 ปื ได้ปริญญาโท ศึกษาอีก 2-5 ปีได้ปริญญาเอก ซึ่งระยะเวลาในการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะขึ้นอยู่กับหลักสูตรและตัวนักศึกษาเป็นสำคัญ เราลองมาดูกันว่าการจัดการศึกษาในระดับต่างๆมีแนวทางอย่างไร สนองตอบต่อผู้เรียนได้มากน้อยเพียงใด ดังนี้

ระดับประถมศึกษา
การจัดการศึกษาในระดับนี้ มีการจัดการศึกษา หลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน แต่ดูเหมือนว่าการศึกษาในระดับนี้ ผู้ปกครองจะให้ความสนใจและเชื่อมั่นที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนมากกว่า ถึงแม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากก็ตาม เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นวิชาการ ตลอดจนมีการเสริมกิจกรรมต่างๆ ทำให้ผู้ปกครองมีความรู้สึกว่าลูกหลานของตนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ระดับมัธยมศึกษา
การจัดการศึกษาในระดับนี้ ก็มีการจัดการศึกษาอยู่หลายหน่วยงาน โดยในระดับนี้ผู้ปกครองมักจะหันมาสนใจให้ลูกหลานได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั้งโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล โดยการวิ่งฝากหรือมอบเงินบริจากให้โรงเรียนจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าการได้ให้ลูกหลานได้เข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ มีชื่อว่าได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงพูดคุยไม่อายใคร ลูกหลานได้รู้จักเพื่อนที่มีฐานะเดียวกันหรือฐานะสูงกว่า การเรียนการสอนน่าจะดีกว่าโรงเรียนที่ไม่มีชื่อเสียง จึงเป็นปัญหาที่ทำให้โรงเรียนที่มีชื่อเสียงแต่ละโรง ต้องรับนักเรียนเป็นจำนวนมากจนล้นห้องเรียน เพราะความต้องการเงินบริจากจากผู้ปกครองนั่นเอง โดยไม่สนใจว่าคุณภาพการเรียนการสอนจะเป็นอย่างไร ส่งผลเสียต่อการดูแลนักเรียน และความด้อยในคุณภาพการศึกษา และเมือคุณภาพการสอนด้อยลง การเรียนพิเศษเพื่อเสริมความรู้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ขึ้นมาได้ ดังนั้นเราจึงเห็นนักเรียนจะต้องเรียนพิเศษกับครูที่สอนประจำบ้าง หรือโรงเรียนกวดวิชาภายนอกโรงเรียนบ้าง ซึ่งก็จะต้องใช้เงินในการเรียนพิเศษอีกจำนวนมาก การเรียนพิเศษเป็นตัวบ่งบอกถึงความด้อยคุณภาพของการศึกษาบ้านเรา เพราะความไม่มั่นใจของผู้ปกครอง และนักเรียน หากเรียนในโรงเรียนเพียงอย่างเดียวน่าจะไม่มีความรู้มากเพียงพอ

ระดับอุดมศึกษา
การจัดการศึกษาในระดับนี้ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อนำวิชาชีพ ไปประกอบอาชีพ นั่นหมายถึงว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะเป็นตัวกำหนดอาชีพของผู้ที่ศึกษาว่าในอนาคตจะมีอาชีพอะไร ดังนั้นจัดการศึกษาในระดับนี้จะต้องมีการกำหนดสาขา และจำนวนนักศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประเทศ แต่ที่ผ่านมาการผลิตบัณฑิตออกมาแต่ละปีไม่มีความสอดคล้อง กับแผนกำลังคนของประเทศเลย สถาบันอุดมศึกษามักจะนิยมผลิตบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ เพราะผลิตได้ง่าย ลงทุนต่ำ มีอาจารย์สอนมากมาย ส่วนผู้ปกครองและนักศึกษาก็ไม่สนใจขอให้ได้จบและได้รับปริญญาก็เพียงพอแล้ว ปัจจุบันเราจึงเห็นบัณฑิตตกงานจำนวนมาก ที่เรียนไม่ตรงกับความต้องการกำลังคนของประเทศ และที่สำคัญมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นหน่วยผลิตกำลังคน ระดับประเทศ เริ่มหันมาออกนอกระบบราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จึงทำให้ต้องเก็บค่าเล่าเรียนจำนวนสูงมาก เพราะต้องเลื้ยงตัวเอง ต้องจ่ายค่าสอนให้กับอาจารย์ในอัตราสูง ผลก็ตกกับนักศึกษาที่ต้องจ่ายค่าหน่วยกิตในอัตราที่สูงมาก จนคนยากคนจนไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนในมหาวิทยาลัยในระบบได้ คงมีเพียงมหาวิทยาลัยตลาดวิชารามคำแหงแห่งเดียวที่เป็นที่พึ่งได้

การจัดการศึกษาในแต่ละระดับต่างก็มีปัญหาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบจะตั้งใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากนัอยเพียงใด ซึ่งประเด็นปัญหาสำคัญ ก็คิอ คุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ตกต่ำ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่สูงเกินไป ค่านิยมโรงเรียนมีชื่อเสียง และค่านิยมปริญญา

ความประหยัดวิถีพุทธ

หลายๆคนเมื่อกล่าวถึงความประหยัด อาจนึกไม่ออกว่าแค่ไหนเพียงใดเรียกว่าประหยัด แต่หากใช้การปฏิบัติแนวพุทธเราก็จะได้คำตอบที่ชัดเจน จึงขอยกเรื่องราวในสมัยพุทธกาล เพื่อความเข้าใจ ดังนี้

ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุ สาวกของพระพุทธเจ้า ได้ออกบิณฑบาตร ไปในที่ต่างๆ ด้วยท่าทางอันสงบ น่าเลื่อมใสยิ่ง จนกษัตริย์ในเมืองนั้นได้เห็นลักษณะท่าทางอันสงบ จึงเกิดความศรัทธา และได้นิมนต์ให้ท่านมารับภัตราหาร และหลังจากการถวายภัตราหารแล้ว กษัตริย์องค์นั้นก็ถวายผ้าขาวให้ 1 พับ และมีการถามตอบกันระหว่างกษัตริย์กับพระภิกษุดังนี้

กษัตริย์.....ผ้าขาวที่ได้ถวายให้ท่านนี้ ท่านจะไปทำอะไร

พระภิกษุ.....ผ้าขาวที่เรารับมานี้ เราจะนำไปย้อมสี ด้วยรากไม้

กษัตริย์.....ผ้าขาวที่ได้ย้อมสีด้วยรากไม้แล้ว ท่านจะไปทำอะไร

พระภิกษุ.....ผ้าขาวที่เราย้อมสี ด้วยรากไม้แล้ว เราจะนำไปเย็บ เพื่อใช้เป็นสบง จีวร เพื่อใช้นุ่งห่ม

กษัตริย์.....สบง จีวร ที่ท่านนุ่งห่ม เมื่อขาด ท่านจะทำอย่างไร

พระภิกษุ.....สบง จีวรที่นุ่งห่มแล้วขาด เราจะนำไปเย็บชุนจนสามารถนำมานุ่งห่มได้อีก

กษัตริย์.....สบง จีวร ที่ท่านเย็บชุน แล้วนำมานุ่งห่มจนขาดมาก ไม่สามารถเย็บชุนจนเป็นผ้าผืนใหญ่ เพื่อใช้นุ่งห่มได้อีก ท่านจะทำอย่างไร

พระภิกษุ.....สบงจีวรที่เย็บชุนแล้วแต่ยังขาดอีกเราก็จะตัดแบ่งเพื่อใช้เป็นม่านบังตาหน้าต่างในกุฏิ

กษัตริย์.....ม่านบังตาที่หน้่าต่างในกุฏิของท่าน หากเปื่อยและไม่สามารถคงสภาพเป็นผืนผ้าได้ ท่านจะ ทำอย่างไร

พระภิกษุ.....ม่านบังตาที่หน้าต่างในกุฏิ หากไม่สามารถคงสภาพเป็นผืนผ้าได้ เราจะนำไปใช้เป็นผ้าถู พื้นในกุฏีของเรา

กษัตริย์.....หากผ้าที่ท่านใช้ถูพื้น มีสภาพเปือย ถูพื้นไม่ได้อีก ท่านจะทำอย่างไร

พระภิกษุ.....หากผ้าที่เราใช้ถูพื้น มีสภาพเปือนจนถูพื้นไม่ได้ เราจะนำผ้านั้นไป วางทางเข้ากุฏิของเรา เพื่อใช้ซับน้ำที่เท้า หลังจากการล้างเท้า

กษัตริย์.....หากผ้าที่ท่านใช้ซับน้ำจากเท้าเปือย จนไม่สามารถซับน้ำจากเท้าได้ ท่านจะทำอย่างไร

พระภิกษุ.....หากผ้าที่ใช้ซับน้ำจากเท้าเปือยมาก ใช้ซับน้ำที่เท้าไม่ได้แล้ว เราก็จะนำผ้านั้นไปผสมกับ ดิน เพื่อซ่อมแซมกุฏิของเรา (กุฏิในอินเดียสมัยพุทธกาลทำจากดิน)

เมื่อกษัตริย์องค์นั้นได้ฟังคำตอบ จึงเกิดความเลื่อมใส และศรัทธา ในแนวทางแห่งพุทธเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ถวายผ้าเพื่มอีกเป็น 100 พับ

จากเรื่องราวสมัยพุทธกาลที่ได้ถ่ายทอดและเล่าสู่กันฟังนี้ จะเห็นได้ว่า "ความประหยัด" ในแนวทางแห่งพุทธะ หมายถึงการใช้ทรัพยากรใดๆก็ตามให้มีคุณค่าสูงสุด หรือเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นให้มากที่สุด นั่นเอง



วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การจัดการศึกษาแบบไทยๆ ไม่ต้องใช้แผนผลิตกำลังคน

หลักการการจัดการศึกษาเพื่อให้มีผลต่อการพัฒนาประเทศในทิศทางและตามแนวทางที่ถูกต้อง จะต้องยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการพัฒนาการศึกษา และแผนอื่นๆที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อกำหนดปริมาณและคุณภาพ ในการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนา หรือการก้าวเดินของประเทศ
แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาในทุกระดับ ต่างสนองเพียงนโยบายของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจที่จะใช้แผนพัฒนาประเทศประเภทต่าง รวมทั้งงานวิจัยอันทรงคุณค่า ที่นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิระดมสมองกันเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาและชี้นำสังคมสู่พัฒนาการที่มั่นคง และบังเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม
ข้าราชการประจำระดับสูง ก็ไม่กล้าพอที่จะกำหนดโยบาย ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของนักการเมือง เพราะข้าราขการดังกล่าวย่อมต้องการความก้าวหน้า หรือคงสถานะของตนเองให้นานที่สุด ดังนั้นจึงทำให้พัฒนาการด้านการศึกษาในประเทศ ขาดทิศทางและเป้าหมายที่สอดคล้องกับสิ่งต่างๆที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะผลิตผลที่ไม่สอดคล้องกับต้องการกำลังคนของประเทศ
ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวกันว่า "หากเห็นคนญี่ปุ่นยืนจับกลุ่มคุยกัน และใช้โยนก้อนหินลงบนศรีษะของชาวญี่ป่นกลุ่มนั้น ก้อนหินที่ถูกโยนออกไปก็จะถูกเพียงหัววิศวกร หรือหัวแพทย์เท่านั้น " เพราะหลังสงครามเป็นช่วงเวลาที่ต้องก่อร่างสร้างประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องใช้วิศวกรในการซ่อมแซมและสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา สำหรับแพทย์ก็ใช้รักษาผู้เจ็บป่วย เนื่องจากผลแห่งสงครามจะมีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นบุคคล 2 อาชีพนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ขณะนั้น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นจึงกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาเพื่อเร่งผลิตกำลังคนในการเยียวยาและเพื่อการพัฒนาประเทศ
การวางแผนกำลังคนเพื่อสร้างคนที่มัคุณภาพและเป็นกำลังหลักของประเทศนั้น ผู้กำหนดนโยบายจะต้องมีแนวทางที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ การที่จะผลิตกำลังคนตามชอบใจนับต่อแต่นี้คงไม่ได้แล้ว เพราะ
1. ค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปทั้งค่าใช้จ่ายของครอบครัว และงบประมาณของรัฐที่เป็นภาษีของประชาชน
2. เวลาที่สูญเสียไประหว่างการศึกษา เป็นจำนวนหลายปี กว่าจะสร้างจนมีความรู้และทักษะให้กับคนเพียง 1 คน
3. การสูญปล่าทางการศึกษา เฉพาะกรณีที่บุคคลนั้นๆ ไม่ได้ใช้วิชาชีพหรือความรู้ที่ร่ำเรียนมา หรือไม่ยอมทำงานก็ถือเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา ที่ประเทศชาติไม่สามารถใช้ประโยชน์กับบุคคลเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือไม่ได้กำลังคนที่จะมาช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ
4.ปัจจุบันอัตราการเกิดของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ในระดับดีและระดับปานกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีบุตรเพียง 1 - 2 คน ทั้งนี้เนื่องจากผลของการวางแผนครอบครัว ทำให้ทรัพยากรด้านบุคคลมีจำนวนจำกัด ดังนั้นการจ้ดการศึกษาจึงต้องตรงจุด และต้องมีคุณภาพ
5.ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีข้อตกลง "FTA"ด้านแรงงานในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหมายถึงข้อตกลงในด้านแรงงานระดับต่างๆ ที่สามารถเข้ามาทำงานในประเทศใดก็ได้ในกลุ่มอาเซียนที่มีข้อตกลงกัน ด้งนั้นหากเราไม่มีการวางแผนเชิงรุกด้านการศึกษาและการผลิตกำลังคนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ คนไทยคงตกงานเป็นแถวๆแน่ เพราะแรงงานในประเทศอาเซียนค่าแรงยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า อาจมีความขยันและตั้งใจกว่า ข้อเรียกร้องมีน้อยกว่า ฝีมือทักษะมีการพัฒนาขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ต้องจัดสวัสดิการให้มากมาย ที่สำคัญแรงานอาเซียนเหล่านี้พยายามเรียนรู้ภาษาไทย และส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดี ดังนั้นสถานประกอบการย่อมเลือกแรงงานเหล่านี้เข้าทำงานอย่างแน่นอน และในทางกลับกันแรงงานบ้านเราก็สามารถไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้เช่นกัน แต่หากเราไม่พัฒนาคนของเราให้มีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่านี้ สถานประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านคงไม่สนใจที่จะรับคนของเราเข้าทำงาน สาเหตุเพราะค่าแรงสูงกว่า ความขยันอดทนอาจสู้ไม่ได้ และทักษะด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษสู้ประเทศในกลุ่มไม่ได้
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือบุคคลในครอบครัว ก็ใช้ทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ตลอดจนทรัพยากรที่มากมายในการผลิตกำลังคนจนกว่าจะทำงานได้ แต่หากกำลังคนที่ผลิตมานั้นกลับไม่มีประโยชน์ในการช่วยพัฒนาประเทศเลย เนื่องจากการขาดการวางแผนการผลิตกำลังคนที่ชัดเจนและสอดคล้องกับการพัฒนาการของประเทศ เราคงมีแต่สินค้าตำหนิที่ไม่มีใครต้องการ


วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การไหว้ที่ไม่ได้มาจากใจ

สมัยผมยังเป็นเด็กถึงแม้จะอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ผู้ใหญ่ในสมัยนั้นก็ยังสอนให้เด็กๆ ยกมือไหว้ผู้ใหญ่แม้จะไม่รู้จักกันก็ตาม และเมื่อเด็กยกมือไหว้ ผู้ใหญ่ก็จะรับไหว้และมักกล่าวคำว่า "ไหว้พระเถอะลูก" หรือ "เจริญๆนะลูกนะ" เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากธรรมเนียมไทยเรานับถือผู้ที่มีอาวุโสกว่า นอกจากนั้นการสอนให้เด็กไหว้ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พร และมีความเมตตาต่อเด็กคนนั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดศิริมงคลกับตัวเด็กเอง หรือ แม้แต่พระภิกษุสงฆ์ก็มีการไหว้ผู้ที่มีพรรษาในการบวชมากกว่า ส่วนการไหว้หรือการให้ความเคารพในทางธรรม เราจะให้ความเคารพผู้ที่มีศีลมากกว่า


ปัจจุบันจุดประสงค์ของการไหว้แปรเปลี่ยนไปมาก เนื่องจากการไหว้ในปัจจุบันเป็นการไหว้ที่มุ่งผลประโยชน์ แม้แต่นักเรียนที่พบครูที่อยู่ในโรงเรียนเดียวกัน แต่ไม่ได้สอนก็เดินผ่านไปเฉยๆ ไม่ให้ความเคารพใดๆ ร้ายยิ่งกว่านั้นเด็กนักเรียนบางคนเคยเรียนกับครูคนนี้แต่ปัจจุบันไม่ได้เรียนแล้ว เมื่อพบก็ทำเฉยๆไม่ให้ความเคารพ เพราะไม่สามารถให้เกรดหรือคะแนนได้อีก ไม่คิดถึงบุญคุณที่ครูคนนั้นเคยให้ความรู้ ส่วนในสังคมของคนทำงานก็เช่นกัน การไหว้หรือทำความเคารพผู้ใหญ่คนใดก็ตาม ก็ต้องเลือกว่าผู้ใหญ่คนนั้นสามารถให้คุณให้โทษได้หรือไม่ หรือนักการเมืองที่เดินหาเสียงก็ไหว้ได้หมด ลูกเล็กแดง เสาไฟฟ้า เพียงขอให้ตนเองได้รับเลือกเป็นผู้แทนได้เท่านั้น แต่เมื่อเป็น สส. หรือรัฐมนตรี ความอ่อนน้อมถ่อมตนก็เลือนหายไปสิ้น


จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าการไหว้หรือการทำความเคารพกันในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นการเคารพกันอย่างจริงใจ แต่เป็นการเคารพโดยแฝงผลประโยชน์ส่วนตน แต่ถ้ามองเหรียญอีกด้านหนึ่งผู้ใหญ่ในปัจจุบันจำนวนมากที่ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ ทำให้ผู้น้อยไม่ให้ความเคารพนับถือ

 
ถึงแม้การทำความเคารพผู้ที่อายุมากกว่า หรือ ผู้ที่มีคุณวุฒิสูงกว่า ผู้น้อยอาจไม่แน่ใจว่าผู้ใหญ่คนนั้นจะเป็นผู้ที่สมควรไหว้หรือไม่ แต่หากเรามาพิจารณาแล้วการไหว้ผู้ที่อาวุโสกว่าด้วยความบริสุทธิ์ใจ ย่อมมีแต่ผลดี โดยไม่ต้องสนใจว่าจะสมควรไหว้หรือไม่ เหมือนกับการใส่บาตรพระเราก็อย่าไปสงสัยว่าพระที่เราจะใส่บาตรนี้เป็นพระจริงหรือพระปลอม  อยู่ที่จิตเราตั้งมั่นที่จะทำบุญด้วยใจที่บริสุทธิ์  หากเป็นพระจริงเราก็จะได้บุญอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากเป็นพระปลอมเราก็ยังได้บุญอยู่เนื่องจากจิตที่บริสุทธิ์ ส่วนบาปมหันต์ก็จะตกแก่ผู้ปลอมเป็นพระเอง     


ในแนวเดียวกันการไหว้ผู้อาวุโสกว่า ก็ขอให้เราไหว้ด้วามบริสุทธิ์ใจ อย่าไปคิดว่าเขาดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะหากผู้ที่เราไหว้หรือทำความเคารพเป็นผู้ไม่ประพฤติดี หรือมีศีลธรรมน้อยกว่าเรา ความเสื่อมก็จะอยู่ที่ตัวเขาเอง ตามคำโบราณที่กล่าวว่า "ห้ามมิให้ผู้ใหญ่ไหว้เด็กก่อน เพราะจะทำให้เด็กคนนั้นอายุสั้น หรือผู้ที่มีศีลมากไหว้ผู้มีศีลน้อยย่อมทำให้ผู้ที่มีศีลน้อยกว่ามีแต่ความเสื่อม การที่ทักทายด้วยการไหว้กันถือว่าเป็นการสืบทอดธรรมเนียมไทยที่น่ายกย่อง แม้แต่ชนต่างชาติยังชื่นชม แต่การไหว้ที่สนิทใจและไม่ต้องสงสัยในความดีก็คือการไหว้บิดามารดา ครูบาอาจารย์ และผู้มีพระคุณ ที่ผู้ไหว้ด้วยความเคารพย่อมมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน


วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การต้มน้ำเพื่อสุขภาพและอนุรักษ์พลังงาน

การต้มน้ำร้อนเพื่อใช้ในการชงเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ น้ำชา หรือ เครื่องดื่มใดๆ กลายเป็นสิ่งจำเป็นทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน หากอยู่ที่บ้้านอาจจะใช้กาต้มน้ำใส่น้ำแล้วตั้งเตาแก๊สจนเดือด หรือในกรณีการต้มน้ำในที่ทำงาน ก็มักนิยมใช้กาต้มน้ำอัตโนมัติแบบกด ถึงแม้กาต้มน้ำชนิดนี้จะสามารถตัดการทำงานได้เอง  แต่ก็ทำให้เกิดความสูญเสียและสิ้นเปลืองพลังงานได้แทบทั้งสิ้น

เนื่องจากการใช้กาต้มน้ำเราใช้พลังงานเพื่อต้มน้ำ 1 กา แต่เรามักใช้ประโยชน์จากนำ้ร้อนเพียง 1-2 แก้ว เท่านั้น   แต่หากเราใช้กาต้มน้ำแบบอัตโนมัติที่มีการเสียบปลั๊กไฟอยู่ตลอดเวลา  จะสังเกตุเห็นว่ากาต้มน้ำชนิดนี้จะมีการตัด - และต่อกระแสไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการเก็บกักความร้อนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเราสามารถทดสอบการเก็บความร้อนของกาได้จากการใช้มือแตะที่ตัวกา หากมีความรู้สึกว่าร้อนก็แสดงว่ากานี้ไม่สามารถเก็บความร้อนได้ดี จึงมีการตัดต่อบ่อยครั้ง และนอกจากนั้นกาต้มน้ำแบบกดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะลดต้นทุนในการผลิตโดยการทำรูน้ำร้อนไหลออกที่ก้นกา ทำให้ตะกอนที่อยู่ก้นกา สามารถผสมออกมากับน้ำร้อนขณะกดได้ แต่หากเป็นกาต้มน้ำรุ่นเก่า จะมีท่อโลหะจุ่มสูงกว่าก้นกา เป็นท่อนำน้ำร้อนออกจากกา ทำให้ตะกอนไม่สามารถผสมออกมากับน้ำร้อนได้

การใช้พลังงานเฉพาะการต้มน้าเพียงอย่างเดียว ทำให้เราต้องสูญเสียพลังงานไปเพื่อการนี้ปีหนึ่งๆจำนวนมหาศาลโดยเปล่าประโยชน์ทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน เนื่องจากการต้มน้ำที่น้ำ 1 กา ใช้น้ำร้อนเพียง 1 แก้ว นั่นเอง ดังนั้นเราจึงหันมาช่วยกันต้มน้ำ 1 แก้ว เพื่อน้ำร้อน 1 แก้ว กัน มาถึงตอนนี้ท่านทั้งหลายคงสงสัยแล้วว่าจะทำได้อย่างไร         วิธีที่เราจะสนองแนวความคิดนี้ได้ก็คือการต้มน้ำโดยใช้ ลวดความร้อนต้มน้ำแบบพกพา  ซึ่งเป็นแบบที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้ โดยจะมีลักษณะเป็น ขดลวด "ฮีตเตอร์" แบบเปลือย หุ้มด้วยฉนวนทนความร้อน และหุ้มด้วยท่อสแตนเลสอีกชั้นหนึ่ง และที่ปลาย "ฮีตเตอร์" จะมีสายไฟต่อกับปลั๊กไฟ เพื่อเสียบใช้งาน  

สำหรับวิธีใช้งานเพียงแต่เราใส่น้ำในถ้วยกาแฟ (ควรเป็นกระเบื้อง) จากนั้นนำส่วนที่เป็นขดลวดความร้อนแช่ลงไปในน้ำ (ควรให้น้ำท่วมส่วนที่เป็น "ฮีตเตอร์") จากนั้นให้เสียบปลั๊กไฟ รอดูจนน้ำเดือด แล้วดึงปลั๊กออกก่อน จากนั้นจึงนำ "ฮีตเตอร์" ออกจากถ้วย แค่นี้เราก็จะได้น้ำร้อนที่สะอาดปราศจากตะกอนใดๆ ด้วยความรวดเร็ว และด้วยความประหยัดเพราะต้มน้ำ 1 แก้ว เพื่อน้ำร้อน 1 แก้ว

หลายท่านอาจจะกลัวอันตรายจากอุปกรณ์ชนิดนี้   แต่หากเราจะพิจารณาให้ดีแล้ว การต้มน้ำแบบนี้ จะมีความปลอดภัยสูง หากเราได้ทำตามลำดับขั้นตอน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ต้องระวังอย่าให้เด็กเล่นเด็ดขาด และขณะต้มน้ำควรรอดูจนน้ำเดือดทุกครั้ง เวลาผมเดินทางจะนำติดตัวด้วยเสมอทั้งในและต่างประเทศ โดยการใช้น้ำจากขวดน้ำเทใส่ถ้วยแก้ว และใช้ "ฮีตเตอร์"จุ่มน้ำ และเสียบปลั้ก ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที น้ำก็เริ่มเดือด และเมื่อน้ำเดือดก็ดึงปลั้กออก และนำ "ฮีตเตอร์" ออกจากถ้วย จัดการชงเครื่องดื่มได้ตามต้องการ ไม่ต้อกลัวตะกอนใดๆที่มากับน้ำ เหมือนกับกาต้มน้ำทั่วไป นอกจากนั้นหากท่านชอบดื่มน้ำอุ่นท่านก็จุ่มเพียงให้น้ำอุ่นก็สามารถทำได้ หลายท่านอาจกล้วว่าจะลืมเสียบปลั๊กทิ้งไว้ ก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยเสียบ "ฮีตเตอร์"ที่เครื่องตั้งเวลาต้ดไฟ ซึ่งมีขายในร้านไฟฟ้าทั่วไป

"ฮีตเตอร์" ชนิดนี้ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับการแช่ให้อยู่ในน้ำเท่านั้น หากไม่มีน้ำหรือเสียบจนน้ำแห้ง "อีตเตอร์" ชนิดนี้จะทำลายตัวเอง และจะไหม้อยู่ในถ้วยแก้ว ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ยกเว้นการใช้งานใกล้กับเชื้อเพลิง

หากทุกคนหันมาใช้ "ฮีตเตอร์" ต้มน้ำแบบพกพา คงจะลดการใช้พลังงานของประเทศได้อย่างมหาศาล เป็นการช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง สำหรับอุปกรณ์ที่กล่าวมานี้ราคาถูกแสนถูกเพียงอันละ 120 บาทเท่านั้น หาซื้อได้ตามร้อนเครื่องไฟฟ้าแถวคลองถม "หากท่านลองใช้แล้วท่านจะรักมันอย่างแน่นอน"

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความด้อยพัฒนาด้านการศึกษา

สมัยที่ผมยังเป็นเด็กวิ่งเล่นอยู่แถววัดสะพานสูง ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต กรุงเทพฯ  จึงได้มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนช่างอากาศอำรุง สมัยที่ท่านนาวาอากาศโทกระวี ฤทธิบุตร เป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านได้บอกกับทุกคนว่า "ครูจะชื่นใจและประทับใจมากที่เห็นลูกศิษย์ยกมือไหว้ หากเทียบกับการทำความเคารพของทหารผู้ใต้บังคับบัญชาของครูแล้วความรู้สึกและความประทับใจห่างไกลกันมาก" นี่ก็แสดงให้เห็นถึงอานุภาพเแห่งความสัมพันธ์ของความเป็นศิษย์เป็นครูกัน ตลอดสมัยที่ผมเรียนอยู่ ณ โรงเรียนแห่งนี้ ผมได้มีโอกาส สัมผ้ส กับครูที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาน ห่วงลูกศิษย์จะไม่มีความรู้ ให้กำลังใจ ติดตามสอบถามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์ทุกคน โดยเฉพาะศิษย์ที่เรียนค่อนข้างอ่อน และที่มีนิสัยเกเร หากศิษย์คนใดมีพัฒนาการน้อยกว่าคนอื่น ครูก็จะสอนพิเศษให้ในตอนเย็น โดยไม่เรียกเงินทองเป็นค่าสอนแม้แต่น้อย ครูในสมัยนั้นมีเงินเดือนเพียงน้อยนิดไม่มีเงินพิเศษใดๆ แต่เป็นครูด้วยจิตวิญญานมุ่งที่จะสอนให่ศิษย์ให้เป็นคนดี ให้เป็นคนเก่ง และเป็นสมบัติของสังคมที่มีคุณภาพ ศิษย์ในสมัยนั้นสามารถกราบเท้าได้ด้วยความซาบซึ้งและสนิทใจ

ผมถือว่าโชดดีที่ได้มีโอกาสพบครูที่เป็นครูอย่างแท้จริง ในปัจจุบันและอนาคตเรื่องที่ผมเล่าให้ฟังมานี้ อาจเป็นเพียงสิ่งที่เหลือเชื่อ เพราะสภาพสังคมปัจจุบันทุกคนมุ่งหาปัจจัยเพื่อการ"เสพ" ซึ่งไม่มีวันที่จะเพียงพอ และนับวันจะเพิ่มความอยากและต้องการมากขึ้น สังคมปัจจุบันสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัวเด็ก มีแต่สิ่งที่จะนำความเสื่อมโทรมมาให้ ทั้งร่างกายและจิตใจ ของเด็ก ดังนี้

พ่อแม่หรือผู้ปกครอง สภาพสังคมปัจจุบันโดยเฉพาะสังคมเมือง โอกาสที่ลูกจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง มีโอกาสน้อยมาก เพราะครอบครัวปัจจุบันมักเป็นครอบครัวเดี่ยว ต่างจากสมัยก่อนที่่เป็นครอบครัวใหญ่อย่างน้อยก็ยังมีปูู่ย่าตายายอยู่ในบ้าน คอยอบรมสั่งสอนและเป็นแบบอย่างให้กับบุตรหลานหวังเพียงให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและสังคม แต่ปัจจุบันสมาชิกในครอบครัวต่างออกไปทำมาหากิน เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ และใช้จ่ายเพื่อตนเองและครอบครัว ซึ่งก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน ทำให้รายจ่ายจำนวนมากต่องใช้เป็นดอกเบี้ย สิ่งนี้จึงเป็นการบังคับให้สมาชิกทุกคนออกไปหาเงิน ลืมภารกิจสำคัญในการอบรมบุตรหลาน ให้ได้เพียงแต่เงิน และมักตามใจอยากได้อะไรก็หาให้ เพราะไม่มีเวลาให้ และกล้วลูกหลานจะไม่รัก ทำให้ลูกหลานหลงละเลิงไปกับเพื่อนที่หามาเพื่อทดแทนความอบอุ่นที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีให้ เด็กปัจจุบันจึงค่อยๆถูกทำลายความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมลงไปอย่างไม่ตั้งใจ ทำให้มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ชอบความสบาย เอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผล ไม่รับผิดชอบ ไม่สนใจอนาคต และไม่สนใจที่จะศึกษาหาความรู้ ดังคำกล่าวที่ว่า "วินัยเริ่มที่ครอบครัว"

ครผู้สอน เมื่อสถาบันครอบครัวล้มเหลว พ่อแม่ผัููปกครองซึ่งก็รู้ว่าตนไม่มีเวลาเพียงพอที่จะอบรมสั่งสอนบุครหลานได้ จึงได้ผลักภาระการอบรมสั่งสอนให้กับผู้ที่เป็นครู โดยมีความคาดหวังว่าครูจะช่วยอบรมให้บุตรหลานของตนเป็นคนดีคนเก่งได้ แต่หารู้ไม่ว่าครูในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากครูเป็นผู้สอนหรือเป็นผู้รับจ้างสอนไปแล้ว เพราะปัจจุบันครูไม่ได้ทำหน้าที่ครูเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำหน้าที่อื่นๆอีกมากมาย เช่นงานธุรการ การจัดกิจกรรมต่างๆ สนองนโยบาย ผู้บังคับบัญชาใช้งาน รองรับการประเมินสารพัด ทั้งการประเมินสถานศึกษาหลากหลายประเภท การประเมินการประกันคุณภาพ การทำวิทยะฐานะให้สูงขึ้น ทำให้เวลาการเตรียมการสอน และการดูแลเอาใจใส่นักเรียนจึงไม่มี บทเรียนที่สอนตามหลักสูตรมี 20 บท ก็อาจสอนเพียง 10 บท เวลาสอบก็สอบเพียง 10 บท แล้วอย่างนี้จะให้ความรู้สอดคล้องกับชั้นที่เรียนได้อย่างไร เพราะจบ ม. 3 ก็อาจมีความรู้เพียง ป.6 ก็เป็นได้ แถมยังมี นโยบายที่ห้ามสอนให้เด็กสอบตกอีก ดังนั้นครูจึงถูกตัดทอนหน้าที่ด้านการสอน รวมทั้งการวัดและประเมินผล จึงทำให้ปัจจุบันได้มีโอกาสเห็นเด็กนักเรียนจบ ม.3 อ่านและเขียนภาษาไทยผิดๆถูกๆ แต่ก็ถูกผลักดันให้จบจะได้พ้นภาระไป หากปัจจุบันมีการสอบโดยใช้ข้อสอบกระทรวงฯ กับผู้อยู่ชั้นตัวประโยค เพื่อสำเร็จการศึกษาเหมือนในสมัยที่ผ่านมา คงจะได้เห็นเด็กนักเรียนสอบตกกันอย่างมากมาย ท่านทั้งหลายลองหลับตาและนึกถึงอนาคตของประเทศ ที่ต้องฝากไว้กับผลผลิตจากการศึกษาเหล่านี้ว่าจะเป็นเช่นใด

ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำในองค์กรระดับสถานศึกษาก็มีส่วนไม่น้อยในการทำให้การจัดการศึกษาของประเทศล้มเหลว เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มักจะทำงานหวังเพียงตำแหน่งที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงคอยแต่จะเอาใจ และรับนโยบายจากผู้บริหารในระดับสูง เพียงเพื่อให้ตนได้มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ หาเรื่องไปประชุมสารพัดเรื่อง ให้กิจกรรมนอกสถานศึกษามีความสำคัญกว่ากิจกรรมภายใน ละเลยการส่งเสริมให้ครูได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง ทำให้การแก้ปัญหาและการพัฒนาในสถานศึกษากลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไป ผู้บริหารที่มองแต่ข้างบนไม่ยอมมองลงมาข้างล่าง ก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากหุ่นยนต์ที่จะถูกบังคับให้เดินหน้าถอยหลังหันซ้ายหันขวา

ผู้บริหารระดับสูง ผู้นำองค์กรการศึกษาระดับสูง บุคคลกลุ่มนี้ก็หว้งความก้าวหน้าของตน มากกว่าความก้าวหน้าของการศึกษาชาติ ปัจจุบันความก้าวหน้าอยู่ในระดับเทียบเท่า ซี 9 ซี 10 ซี 11 ชอบไปดูงานต่างประเทศเพราะได้เที่ยวและมีโอกาสนำสิ่งใหม่ๆมา เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆเพื่อการศึกษา ซึ่งในขณะที่ไปดูงานในต่างประเทศโดยเฉพาะทางยุโรป มักจะนำสิ่งที่ตนเห็นว่าดีและมีการใช้จนประสบความสำเร็จในประเทศนั้นๆ จึงนำมาจัดประชุมขยายผล โดยไม่ได้ศึกษาพื้นฐานหรือบริบทของความเป็นไทยก่อนว่ามีความเหมาะสมเพียงใด หลายๆสิ่งที่นำมาใช้มักล้มเหลว เสียงบประมาณในการดำเนินโครงการมากมาย 10 คน ไปดูก็นำมา 10 อย่าง แต่เอาเพียงเศษเสี้ยวของเขาทาเท่านั้น ทำให้การศึกษาบ้านเราจึงเละอย่างไม่เป็นท่า เพราะเสมือนการนำเอาภาพจิ๊กซอว์คนละภาพมาต่อกัน บางคนนำของใหม่มาเผยแพร่ ของเก่าที่ทำอยู่เสียงบประมาณไปมากมายให้ยกเลิก ไม่มีการสานต่อใดๆ เพราะผู้ใหญ่บ้านเราไม่ชอบทำตามใคร ชอบให้คนอื่นคิดว่าตนเองเป็นคนริเริ่ม แม้จะลอกเขามาก็ตาม งบประมาณเพื่อพัฒนาครูในด้านการศึกษางานในต่างประเทศ มีทุนมาก็ยากที่จะถึงครู หรือบุคลากรในสถานศึกษา อาจมีบ้างสำหรับการดูงานที่ต้องเสียค่าเิดินทาง และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเอง ครูคนไหนอยากไปก็คงต้องควักกระเป๋าหรือกู้เขามาเพื่อไปดูงานมาพัฒนาการเรียนการสอนเอง คงไม่มีวาสนาเช่นท่านผู้ใหญ่ที่กล่าวมานี้หรอก

หลักสูตร ในสมัยก่อนวิชาที่เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีวิชาที่เป็นหลักๆไม่กี่วิชา เช่นคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ และหน้าที่ศีลธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่นักเรียนจะต้องใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อ และใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างชัดเจน แต่หลักสูตรในปัจจุบันได้ตัดทอนวิชาเหล่านี้แล้วนำมาบูรณาการ ผสมผสานกัน ตามความคิดของผู้ร่างหลักสูตร อยากให้เด็กรู้อะไรก็จับใส่เข้ามา จนปัจจุบันแยกแยะไม่ออกว่าเรียนแล้วจะใช้อะไรได้บ้าง ผลนักเรียนงง อ่านเขียนไทยก็ยังไม่ถูกเลย หลักสูตรที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้เพียงเศษเสี้ยว ไม่ได้ลงลึกถึงแก่นแท้ และไม่ครอบคลุม จึงถือว่าเป็นการให้ความรู้แบบฉาบฉวย จึงเป็นผลให้ผลผลิตของการศึกษาในปัจจุบัน กลายเป็นคนไม่มีเหตุผล ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่รักที่จะเรียนรู้ สมัยผมเป็นเด็กคุณยายผมเรียนจบแค่ชั้น มัธยม 1 โรงเรียนเบจมราชาลัย ยังสามารถสอนภาษาอังกฤษ ภาษาไทยให้ผมได้เลย แสดงว่าหลักสูตร และวิธีการสอนของครูในสมัยก่อน มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงกว่าการเรียนการสอนในปัจจุบันหรืออย่างไร


สำหรับผู้ที่ฝากความหวังไว้กับการศึกษาบ้านเรา คงจะต้องหันมาร่วมมือกันเพื่่อพัฒนาการศึกษา โดยร่วมมืออย่างจริงจังในระดับปฏิบัติพร้อมเพรียงกันทุกฝ่ายทั้ง บ้าน วัด และ โรงเรียน (บวร) สะท้อนให้ระดับนโยบายได้เห็นสภาพจริง ความจำเป็น และแนวทางในการพัฒนาเยาวชนของชาติที่ถูกทิศถูกทาง ผมยังเสียดายสมัยที่ท่าน ศ.ดร.สาโรช บัวศรี ท่านพยายามผลักดันให้มีการจัดการศึกษาด้วยพุทธปรัชญา หรือโรงเรียนวิถีพุทธ แต่ไม่ได้รับการตอบรับและสนับสนุนเท่าที่ควร ซึ่งการนำหลักของพระพุทธศาสนามาจัดการศึกษานี้ ผมเชื่อมั่นว่าสามารถตอบโจทย์จากปัญหาต่างๆ ได้อย่างแน่นอน เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทย เลิกเสียที่เถอะที่จะนำปรัชญาของตะวันตกมาจัดการศึกษาบ้านเรา เพราะคนไทยมักเห่อความคิดของฝรั่ง บ้านเรามีพุทธศาสนาที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แม้แต่ผู้มีชื่อเสียงของโลกยังให้การยอมรับและเคารพนับถือ เรามีของดีอยู่แล้ว กล้บไม่นำมาใช้ ปรัชญาของฝรั่งที่ว่าดีใช้ในการอ้างอิงในงานวิจัยต่างๆ ผมยังมีความเชื่อว่า คนเหล่านี้อาจไม่ได้คิดขึ้นมาเอง อาจจะไปพบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำความคิดมาเป็นของตนก็ได้ เพราะหลายต่อหลายปรัชญามักตรงกับที่พระพุทธองค์ตรัสทั้งนั้น

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การใช้อายตะนะเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์

อายตะนะเป็นการรับรู้ของบุคคล 6 ทาง หรือบางครั้งเรียกว่า อายตะนะ 6 โดยการรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นี้ มีทั้งประโยชน์และโทษในขณะเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำไปใช้กับสิ่งใด กิจกรรมใด หรือภารกิจใด ซึ่งในเรื่องการใช้อายตะนะนี้ "พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)" ได้ให้แนวทางและเปรียบเทียบการใช้ "อายตะนะ" ของแต่ละบุคคลโดยท่านได้แบ่งบุคคลออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ บุคคลประเภททืั้่ใช้ "อายตะนะ" ในการ "เสพ" และ บุคคลประเภททืั้่ใช้ "อายตะนะ" ในการ "ศึกษา"

บุคคลที่มุ่งใช้ "อายตะนะ" ในการ "เสพ" จะเป็นการสนับสนุน "กิเลส" ที่อยู่ในตัวตน ซึ่่งจะส่งผลต่อบุคคลนั้นๆ ได้ 3 ทาง คือ ทำให้เกิดทุกข์ ทำให้เกิดสุข และทำให้เกิดอุเบกขา
 
1. "ทำให้เกิดทุกข์" สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นี้ เกิดจากการที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลื่่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส และกระทบเสทือนจิตใจ ในสิ่งที่ตนไม่ชอบ และการไม่ได้ เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลื่่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้สัมผ้ส และไม่ได้ดังใจ ในสิ่งที่ตนหวังและชื่นชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นทุกข์สำหรับผู้ที่มุ่งใช้ "อายตะนะ" เพื่อการ "เสพ" เป็นหนทางแห่ง "โทษะ" ที่ไม่รับการสนองตอบในการ "เสพ" ที่ตนคาดหวัง
 
2. "ทำให้เกิดสุข" สาเหตุที่ทำให้เกิดสุขนี้ เกิดจากการที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลื่่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส และถูกใจ ในสิ่งที่ตนชอบ และ การไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลื่่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้สัมผ้ส และไม่มีสื่งใดมากระทบเสทือนจิตใจ ในสิ่งที่ตนไม่ชื่นชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ที่มุ่งใช้ "อายตะนะ" เพื่อการ "เสพ" จะรู้สึกเป็นสุข และ จะมีความต้องการ "ความสุข" นี้ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นหนทางแห่ง "ความโลภ" ก็จะสถิตอยู่ในตนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
3. "ทำให้เกิด "อุเบกขา" บุคคลประเภทนี้้เป็ประเภทที่ ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งใดๆ ปล่อย "อายตะนะ" ไม่รับรู้ ไม่มีความหวังใดๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ที่มุ่งใช้ "อายตะนะ" เพื่อการ "เสพ" จะรู้สึกเป็น "อุเบกขา" ของผู้ไม่รู้ ซึ่งเป็นหนทางแห่ง "ความหลง"
 
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าการใช้ "อายตะนะ" เพื่อการ "เสพ" นั้น จะเป็นหนทางให้ผู้นั้น มี ความโลภ ความโกรธ และความหลง อยู่ในตัวตน และจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า"อายตะนะ" เพื่อการ "เสพ" นั้น เป็นการเติมพลังให้กับ "กิเลส" ในตนนั่นเอง

บุคคลที่มุ่งใช้ "อายตะนะ" ในการ "ศึกษา" จะส่งผลต่อบุคคลนั้นๆเพียง  2 ทาง คือ ทำให้เกิดสุข และทำให้เกิดอุเบกขา
 
1. "ทำให้เกิดสุข" สาเหตุที่ทำให้เกิดสุขได้นี้ เกิดจากการที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลื่่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส และถูกใจ ในสิ่งที่ตนชอบศึกษาหรืออยากที่จะเรียนรู้ ยิ่งได้ศึกษาได้เรียนรู้ก็จะยิ่งอยากรู้มากขึ้น และยิ่งเกิดความสุข ซึ่งผู้ที่มุ่งใช้ "อายตะนะ" เพื่อการ "ศึกษา" จะรู้สึกเป็นสุข
 
2. "ทำให้เกิด "อุเบกขา" บุคคลประเภทนี้้เป็นประเภทที่ "อายตะนะ" ได้รับรู้และได้ศึกษา จนถึงขั้นสูงสุด จึงมีความรู้สึกเป็น "อุเบกขา" ของผู้รู้ ซึ่งเป็นหนทางแห่ง "ความหลุดพ้น"
 
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าการใช้ "อายตะนะ" เพื่อการ "ศึกษา" นั้น จะทำให้ผู้นั้นพบแต่ความสุขในตัวตน และเป็นหนทางแห่งความหลุดพ้น เมื่อเกิดสภาวะ "อุเบกขา" ในสภาวะที่ได้รับรู้หรือศึกษาถึงขั้นสูงสุด หรือเพียงพอแล้ว แต่หากการศึกษานั้นใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการ "เสพ" คือการเรียนรู้เพื่อหาทรัพย์ หรือเพื่อสนอง "กิเลส" ของตนแล้ว "อายตะนะ" เพื่อการศึกษานี้ก็ทำให้ตนเกิดทุกข์ได้เช่นกัน

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คบเด็กสร้างบ้านคบหัวล้านสร้างเมือง

คำพังเพยโบราณเคยกล่าวไว้ว่า "คบเด็กสร้่างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง" คำพังเพยนี้มีความหมายที่ลึกซึ้ง  ซึ่งความหมายจากคำว่า "คบเด็กสร้างบ้าน" อันหมายถึงผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิด หรือยังมีการกระทำเหมือนเด็ก เช่น เบื่อง่าย เอาแต่ใจ ทำการสิ่งใดไม่จริงจัง ประสบการณ์น้อยหรือไม่มีประสบการณ์ โบราณกล่าวว่า คนผู้นั้นจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย แม้เป็นงานเพียงเล็กน้อย เปรียบเสมือนการสร้างบ้าน ที่ถือว่าเป็นงานขนาดเล็ก 



สำหรับความหมายที่ว่า "คบหัวล้านสร้างเมือง" นั้น โบราณท่านต้องการสื่อความหมายไปถึงคนที่จะทำงานใหญ่ที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง หากมีคุณสมบัติ เช่น "คนหัวล้าน" ซึ่งโบราณเปรียบเทียบว่าเป็นคนมักขี้ใจน้อย ใครพูดว่าอะไรไม่ได้ ก็มักจะเลิกล้มความตั้งใจทันที ผลทำให้งานที่ทำล้มเหลว คนประเภทนี้อาจทำงานเล็กๆสำเร็จ แต่หากเป็นงานขนาดใหญ่ที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง มีผู้ใต้บังคับบัญชามาก จะทำงานนี้ไม่สำเร็จ